รัฐบาลดิจิทัล (8) : เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นยกเว้น

รัฐบาลดิจิทัล (8) : เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นยกเว้น

การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data) เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการไปสู่การเป็น “รัฐบาลเปิด” (Open Government) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน สามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ รวมถึงร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ

 ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงยึดนโยบาย “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นยกเว้น” (Open by Default) เพื่อให้รัฐบาลให้บริการตรงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงนั่นเอง

ข้อมูลที่รัฐจัดเก็บนั้น มาจากการใช้ภาษีอากรของประชาชน นอกจากจะใช้ในการปฏิบัติราชการแล้ว จึงควรเปิดให้ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปนำไปใช้ประโยชน์ เกิดการสร้าง “ระบบเศรษฐกิจบนฐานของข้อมูล” (Data Economy)

ตัวอย่างเช่น มีบริษัทข้ามชาติที่นำข้อมูลเปิดของรัฐบาลต่างๆ ในอาเซียนไปให้บริการวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค และประเมินความเสี่ยงของการให้สินเชื่อแก่กลุ่มธุรกิจการเงินในภูมิภาคด้วย

หลักการสำคัญของข้อมูลเปิดคือ ต้องให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สามารถนำไปเผยแพร่ ใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาบริการและนวัตกรรม โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ 

หน่วยงานรัฐจึงต้องทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่อ่านได้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Machine Readable) ไม่ใช่เอกสารที่สแกนเป็นรูปภาพ แต่ต้องอยู่ในรูปแบบที่มีโครงสร้าง เพื่อให้ประมวลผลต่อได้โดยง่าย

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นข้อมูลสถิติ แต่ข้อมูลที่มีมูลค่าสูงคือข้อมูล "ดิบ” ที่มีรายละเอียดซึ่งเอื้อต่อการนำไปวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ ตามความสนใจได้

DGA ได้จัดทำ ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ  เพื่อรวบรวมข้อมูลเปิดจากหน่วยงานรัฐต่างๆ ไว้ ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด หรือใช้ API ในการดึงข้อมูลไปใช้โดยอัตโนมัติ มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 3.8 ล้านคน

โดยข้อมูลที่มีผู้เรียกดูมากที่สุดคือ รายงานโควิด-19 ประจำวัน และข้อมูลพิกัดที่ตั้งของตำบล เป็นต้น DGA ยังได้ร่วมกับ สำนักงาน ก.พ.ร.ขับเคลื่อนให้หน่วยงานรัฐจัดทำชุดข้อมูลเปิด เพิ่มขึ้นจาก 2,568 ชุดข้อมูลในปี 2563 เป็น 7,724 ชุดข้อมูลในปี 2565 และล่าสุดถึง 12,022 ชุดข้อมูล

รัฐบาลดิจิทัล (8) : เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นยกเว้น

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐมักกังวลที่จะเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ เนื่องจากกลัวว่า ข้อมูลอาจจะไม่ถูกต้อง หากนำไปใช้แล้วอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ หลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ ยิ่งมีความกังวลว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้

ในการขับเคลื่อนเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ จึงให้ความสำคัญกับการจัดทำ “ธรรมาภิบาลข้อมูล” โดยเฉพาะการจัดระดับชั้นความลับและวิธีการพัฒนาคุณภาพของข้อมูล จะได้สร้างความเชื่อมั่นในการนำไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์ 

สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ต้องใช้วิธีการทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนได้ (Anonymization) เสียก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ ดังเช่นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด มีการเปิดเผยข้อมูลเปิดเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดรายบุคคลโดยไม่ระบุตัวตน เป็นต้น

เว็บ “ภาษีไปไหน” ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่น งบประมาณและโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) นำไปใช้ในการชี้ประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ DGA ยังได้นำรายชื่อบริษัทที่เป็นคู่สัญญาให้บริการด้านดิจิทัลกับหน่วยงานรัฐ จากระบบภาษีไปไหน มารวบรวมไว้บนเว็บศูนย์รวมผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อหน่วยงานภาครัฐ  เพื่อให้หน่วยงานรัฐต่างๆใช้อ้างอิงในการจัดหาผู้ผลิตหรือให้บริการด้านไอที

รัฐบาลดิจิทัล (8) : เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นยกเว้น

ตัวอย่างชุดข้อมูลเปิดที่นำไปสู่การแก้ปัญหาโดยภาคเอกชน คือชุดข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการมาจากฐานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน คือ ข้อมูลจากโรงพยาบาล สถานีตำรวจ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์

เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยข้อมูลพิกัดของตำแหน่งการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทำให้ภาคเอกชนนำไปวิเคราะห์เกี่ยวกับรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุและหาทางปรับปรุงสภาพแวดล้อม ณ จุดเกิดเหตุ ให้ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตได้

ล่าสุด DGA ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มรายงานค่าฝุ่น PM2.5 “CU Sense” ซึ่งพัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรวมการรายงานสภาพฝุ่นทั้งจากอุปกรณ์ของกรมควบคุมมลพิษ และจากประชาชน ไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศของข้อมูลเปิดภาครัฐร่วมกับภาคประชาสังคมให้เกิดขึ้น

การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา มาจาก “ความพร้อม” ของหน่วยงานเป็นหลัก ต่อจากนี้ เราต้องการจะให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลตามความต้องการของผู้ใช้ โดย DGA ได้สำรวจความต้องการใช้ข้อมูลจากประชาชน แล้วนำไปหารือกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบข้อมูลเพื่อให้จัดทำชุดข้อมูลเปิดดังกล่าวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน (ITA) โดยสำนักงาน ป.ป.ช.นั้น จะมีการกำหนดรายการชุดข้อมูลที่หน่วยงานรัฐจะต้องเปิดเผย เช่น โครงสร้างองค์กร แผนปฏิบัติงาน รวมถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ อยู่แล้ว

DGA จึงได้เสนอให้ทุกหน่วยงาน สำรวจความต้องการข้อมูลเปิดของประชาชนแล้วเปิดเผยข้อมูลตามความต้องการของประชาชน ก็จะได้รับการประเมินคะแนน

ยังมีข้อมูลอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาเปิดเผย มีกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามประเภทธุรกิจ แยกรายอำเภอหรือจังหวัด ด้วยเหตุผลเพื่อให้เอกชน ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจได้เบื้องต้น

โดยเห็นรายละเอียดในระดับท้องถิ่น ไม่ต้องรอจนมีการแถลงภาวะเศรษฐกิจรายไตรมาสจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สามารถจะประเมินความเสี่ยง เพื่อตัดสินใจที่จะลงทุนหรือไม่ลงทุนได้ทันท่วงที อันจะเป็นประโยชน์ในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ผันผวนทางเศรษฐกิจได้

บางทีอาจจะต้องมีการร่างกฎหมายใหม่เพื่อการเปิดเผยข้อมูล อย่างที่สหภาพยุโรปมี Data Act หรือเกาหลีใต้ มีการออกกฎหมายเพื่อบังคับให้หน่วยงานรัฐ “ต้อง” เปิดเผยข้อมูล ยกเว้นเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล หรือความมั่นคงของประเทศเท่านั้น

ที่น่าสนใจคือแทนที่จะให้ผู้ขอข้อมูลต้องไปชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องการใช้ข้อมูลจากรัฐ หน่วยงานรัฐต้องเป็นฝ่ายชี้แจงเหตุผลว่าทำไมจึงไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ต่อคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาตัดสิน

นโยบาย “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นยกเว้น” จะเป็นจริงได้ นอกจากจะต้องตราเป็นกฎหมายแล้ว ยังต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากภาคประชาสังคมในการแจ้งความต้องการข้อมูลภาครัฐ และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อยอดด้วย.