รัฐบาลดิจิทัล (7) : ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ

รัฐบาลดิจิทัล (7) : ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ

ลองสมมติว่าตัวเองเป็นรัฐมนตรีของสักกระทรวงหนึ่ง วันแรกที่เข้าไปทำงาน อาจจะได้รายงานต่างๆ มาดูบ้าง แต่ถ้าอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม ก็ต้องไปรวบรวมมาจากกรมกองต่างๆ กว่าจะได้ข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ

เริ่มจากตอนนี้ เราจะพูดถึงผลลัพธ์ในมิติที่สองของรัฐบาลดิจิทัล นั่นก็คือ “ด้านข้อมูล”

ปัญหาสำหรับภาครัฐคือ ข้อมูลจำนวนไม่น้อยยังอยู่บนกระดาษ เวลาจะนำข้อมูลเข้าระบบก็ต้องอาศัยคนมาป้อนข้อมูล ซึ่งเสี่ยงที่จะผิดพลาดได้ง่าย และใช้เวลานานกว่าที่จะได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

นอกจากนี้ ข้อมูลยังอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ไม่รู้ว่าอยู่กับหน่วยงานไหน พอได้ข้อมูลมา ก็ไม่พร้อมให้ใช้งาน เช่น สแกนจากกระดาษเข้ามาเก็บเป็นภาพ ทำให้ค้นหาคำในเอกสารไม่ได้หากไม่แปลงจากภาพเป็นตัวหนังสือด้วยโปรแกรมอ่านตัวอักษร เสียก่อน 

พอนำมาทำรายงานเสนอผู้บริหารก็มีปัญหาอีกว่า ข้อมูลต่างๆเหล่านั้น มีนิยามอย่างไร เข้าใจตรงกันหรือไม่ หลายครั้ง ข้อมูลจากหลายแหล่งไม่สอดคล้องกัน ท้ายสุด ผู้บริหารจะเชื่อถือในความถูกต้องของข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ตัดสินใจได้หรือไม่ 

รัฐบาลดิจิทัล (7) : ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ

ที่ผ่านมา เรามักถือว่าข้อมูลคือ สิ่งที่ได้มาจากการปฏิบัติราชการตามปกติ ไม่ได้มีการตระหนักถึงความสำคัญ หรือมีการบริหารจัดการโดยเฉพาะ อย่างมากก็มีการจัดเก็บในฐานข้อมูลและดูแลโดยฝ่ายไอทีเท่านั้น 

นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมจึงต้องมีการวาง “ระบบกำกับดูแล” เกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลในองค์กร หรือที่เรียกกันว่า “ธรรมาภิบาลข้อมูล” (Data Governance)

เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบาย  หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง ไปจนถึงแนวทางการบริหารจัดการข้อมูล (Data Management) ซึ่งครอบคลุมวงจรชีวิตของข้อมูล ตั้งแต่การสร้าง จัดเก็บ ใช้ เผยแพร่ จัดเก็บถาวร ไปจนถึงการทำลายข้อมูล 

คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้วาง “กรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ” เพื่อเป็นกรอบการทำงานของผู้มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data Quality) มีการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว (Data Privacy) และรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล 

กรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ  ไม่ใช่ “ลัทธิ” ที่คาดหวังให้หน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องทำตามเพียงเพื่อให้เกิด “ธรรมาภิบาลข้อมูล”ขึ้น หากแต่มีความมุ่งหมายผลลัพธ์ด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลใน 3 ด้านเป็นสำคัญ 

ประการแร เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ สองคือ เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน  และสุดท้าย เพื่อให้มีการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์และแสดงผลเพื่อการตัดสินใจ (Data Visualization & Analytics)

ขณะเดียวกัน เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ หน่วยงานรัฐต้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ให้มีการรั่วไหลออกไปหรือนำไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ

การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล จึงเป็นมาตรการแรกที่จำเป็นสำหรับทุกหน่วยงานในการดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมาย (Compliance)

สำหรับการขับเคลื่อนในระยะแรก เราเน้นให้ หน่วยงาน ต้องจัดทำ “บัญชีข้อมูล” (Agency Data Catalog) ของชุด “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” เพื่อรวบรวมรายชื่อและคำอธิบายข้อมูลที่หน่วยงานใช้ในการปฏิบัติงานตาม “ภารกิจหลัก” ของหน่วยงานนั้นๆ แล้วนำบัญชีข้อมูลไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และนำข้อมูลเปิดไปขึ้นที่ data.go.th

รัฐบาลดิจิทัล (7) : ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ

ทั้งนี้ DGA ได้จัดอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ จัดทำบทเรียนออนไลน์ พร้อมทั้งให้คำปรึกษา (มิติคน) มีการปรับปรุงกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ โดยเพิ่มแนวทางการนำไปทำให้เกิดขึ้นจริงในองค์กร รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีจากหน่วยงานต่างๆ

เช่น กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเคยได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัลด้านธรรมาภิบาลข้อมูลมาแล้ว (มิติกระบวนการ)

นอกจากนี้ DGA และสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ร่วมมือกับ NECTEC นำระบบ CKAN Open-D มาใช้เป็นระบบบัญชีข้อมูลของหน่วยงาน ทำให้หน่วยงานลดภาระไม่ต้องป้อนข้อมูลซ้ำซ้อน และสามารถดึงข้อมูลเปิดจากหน่วยงานมาขึ้นที่เว็บ data.go.th ได้โดยอัตโนมัติ (มิติเทคโนโลยี)

DGA ยังได้จัดตั้ง “สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล” (Data Innovation and Governance Institute) ขึ้น เพื่อสนับสนุนหน่วยงานให้เกิดการกำกับดูแล และการบริหารจัดการข้อมูลที่ดีตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล พัฒนาทักษะด้านข้อมูล สร้างเครือข่ายการใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมจากข้อมูล 

โดยมีการจัดค่ายสานฝันปั้นอัศวินข้อมูลภาครัฐ (DIGI Data Camp)  เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาเรียนรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล สร้าง dashboard หรือสร้างบริการใหม่ (ด้วยเทคโนโลยี ​Low Code/No Code) จากข้อมูลเปิดภาครัฐ

แล้วประกวดคัดเลือกผลงานการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีผลกระทบสูง มีผู้เข้าร่วมโครงการในปีนี้จำนวนถึงกว่า 1,000 คน รวม 400 ทีม จากกว่า 350 หน่วยงาน

รัฐบาลดิจิทัล (7) : ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ

ตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัล เช่น ข้อมูลภาพรวมสถานการณ์ไข่ไก่และไก่ไข่ ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้อมูลภาพรวมการบริหารพัสดุคงคลังและการแก้ปัญหาพัสดุไม่เคลื่อนไหว ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น

เราพบว่า ทุกคนต่างเห็นความสำคัญของการทำธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อพัฒนาคุณภาพของข้อมูล  ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่ได้รับรางวัลก็เกิดความภาคภูมิใจ เห็นความสำคัญและสนับสนุนทีมงานข้อมูลอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น

ผลจากการขับเคลื่อนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทุกหน่วยงานเริ่มจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลและนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในระยะต่อไป จึงมุ่งเน้นไปที่ชุดข้อมูลหลัก (Master Data) ที่มีการแบ่งปันกับหน่วยงานอื่น โดยให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานในโดเมนต่างๆตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ทั้ง 10 ด้าน เช่น การศึกษา สาธารณสุข และเกษตร เป็นต้น

การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลข้อมูลไปสู่การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญ กำหนดขอบเขตและเป้าหมายให้ชัด แต่งตั้งผู้รับผิดชอบและทีมงานจากทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง แล้วติดตามผลอย่างต่อเนื่องจริงจัง 

การพัฒนาบุคลากรทุกระดับของหน่วยงานให้มีทักษะด้านข้อมูล เป็นหัวใจที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากข้อมูล

หวังว่า ต่อไปเราจะเห็นการบูรณาการข้อมูลในระดับกระทรวง เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมในการบริหารงานและสามารถวิเคราะห์และกำหนดนโยบายบนฐานของการใช้ข้อมูล (Data-Driven) อย่างแท้จริง.