โกหกยุค AI สร้างความจริงที่เป็นทางเลือก Alternative Fact
AI ช่วยการโกหกได้อย่างแนบเนียน เราอยากให้รูปเราดูสวยดูหล่อ ก็ใช้ AI ปรับแต่งรูปภาพ แต่ส่วนใหญ่เป็นการโกหกที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายอะไรกับคนอื่น
มีอยู่บ้างที่ดัดแปลงรูปภาพให้คนอื่นหลงเชื่อ ใช้ AI เติมรูปตนเองเข้าไปในภาพพิธีฉลองปริญญาแล้วเอาไปอวดใครต่อใครได้ว่าฉันจบมาจากที่นั่น
ใครเล่าเรียนสถิติมาบ้างคงรู้ว่า เรื่องเดียวกัน ถ้าวิเคราะห์แตกต่างกัน ถ้ามี AI ช่วยแนะนำหนทางในการวิเคราะห์ เรื่องแย่ ๆกลายเป็นเรื่องดีได้เลยทีเดียว การโกหกในยุค AI จึงดูเหมือนจริงจนแยกแยะได้ยากขึ้นว่า จริงหรือโกหก
เราเชื่อกันว่าความจริงมีหนึ่งเดียว และข้อมูลบ่งบอกความจริง พอมาถึงยุค AI ก็เริ่มบอกว่ามีความจริงมีทางเลือก Alternative Fact ความจริงที่เคยบอกว่ามีหนึ่งเดียวเลยกลายเป็นความจริงที่หลากหลาย
ใครตามทันก็พบความจริงที่เป็นความจริง ใครตามไม่ทันก็ได้ความจริงที่เป็นทางเลือก Alternative Fact ส่วนใหญ่ มีส่วนผสมของการโกหก หรืออย่างน้อยจะมีการปิดปังข้อมูลบางส่วนไม่ให้ปรากฏ หรือลดความสำคัญในเรื่องที่สำคัญ แต่ขยายความสำคัญให้กับเรื่องที่ไม่สำคัญ
ซึ่งงานเหล่านี้ ถ้าคนนั่งคิดหาหนทางจะยากเย็นและใช้เวลามาก ๆ AI ถนัดงานแบบนี้มาก ๆ จนกระทั่งในวงการวิจัยต้องมีการกำหนดจริยธรรมในการใช้ AI เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ไปในทำนองนี้
อย่างไรก็ตาม เรามีการกำหนดจริยธรรมในการใช้สารพัดเทคโนโลยีมานานมากแล้ว ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น ก็มักมีการกำหนดจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นตามมา แต่ทุกวันนี้เราก็มีปัญหากับแก๊งที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาหลอกลวงกันจนเดือดร้อนไปทั่วหน้า
ถ้าจะจับโกหกที่ AI ช่วยทำให้การโกหกนั้นดูแนบเนียน นักเทคโนโลยีเลยได้โอกาสค้าขายเครื่องมือเพื่อการนี้ ใครใช้ AI ช่วยดัดแปลงรูปภาพ ก็มีเครื่องมือ AI เพื่อตรวจจับออกมาขาย ทำนองว่าเกลือจิ้มเกลือ
แต่ถ้าคนไม่สังเกตว่าน่าจะมีอะไรที่ไม่จริงกับการโกหกที่ AI ช่วยสร้างขึ้นมานั้น ก็ไม่ใครใส่ใจจะไปหาเครื่องมือมาตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริง เรื่องโกหก โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Alternative Fact ถ้าไม่คุ้นเคยกับวงการนั้น เราอาจจะเชื่อว่าลงทุนห้าบาท ได้คืนสองบาท เป็นสิ่งที่น่ากระทำไปได้
AI ช่วยให้การโกหกดูแนนเนียน จากการปรับแต่งภาพ ปรับแต่งวิดิโอ ลงในสภาพแวดล้อมที่ AI ช่วยเลือกให้สอดคล้องกับความลำเอียงของผู้คนที่อยากเห็นเรื่องนั้นเป็นไปในทางใดทางหนึ่ง
คนลำเอียงไปทางไหน AI ช่วยเลือกสภาพแวดล้อมพร้อมดัดแปลงข้อมูลให้สนับสนุนความลำเอียงนั้น แล้วยังแนะนำเพิ่มเติมว่าจะส่งต่อการโกหกนั้นไปทางไหนบ้างที่จะทำให้เกิดความเชื่ออย่างกว้างขวางโดยรวดเร็ว โกหกเรื่องกำไรขาดทุนให้กับคนรอรับเงิน ได้ผลมากกว่าไปโกหกให้คนจ่ายเงินฟัง
ดังนั้น ไม่ว่าจะมีเครื่องมือจับโกหกดีแค่ไหน ถ้าคนไม่ใส่ใจ การโกหกที่แนบเนียนจะกลายเป็นความจริงอีกทางหนึ่ง เป็น Alternative Fact ทันที
โกหกคือโกหกไม่ว่าจะแนบเนียนแค่ไหน หากคนมีการคิดวิเคราะห์เป็นสรณะ คนฉลาด เรียนจบสูงๆ อาจจะไม่รอดจากการเป็นเหยื่อของการโกหกที่แนบเนียนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากคนฉลาดแต่ไม่ตระหนักว่าเรื่องนั้นต้องมีการคิดวิเคราะห์
เราจึงพบเสมอว่าเรื่องโกหกนั้น คนฉลาดขนาดนั้น เล่าเรียนมาขนาดนี้ยังเชื่อว่าเป็นความจริง เลยชวนให้เราจะเชื่อตามไปด้วย จะจับโกหกที่ใช้ AI มาช่วย ปัญญาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสติในการรับรู้เรื่องนั้น ตั้งคำถามกับเรื่องที่ดูดีนั้นสักหน่อยว่า เกินจริงตรงไหนได้บ้าง
ถ้าเห็นว่าดีจริง ๆ ลองถามตนเองสักหน่อยว่า มีหลักฐานอะไรบ้างมั้ย ขี้สงสัยกับหลักฐานเหล่านั้นสักหน่อย แต่ไม่ถึงกับจ้องจับผิด ขอแค่หลักฐานนั้นกับหลักตรรกะไปด้วยกันได้หรือไม่ หันไปมองเรื่องนั้นในมุมอื่นดูบ้าง
เพราะ Alternative Fact by AI ใช้วิธีหมุนเรื่องนั้นให้เราดูในมิติบางมิติ อยากให้ช้างสีขาวก็หมุนให้เราดูแต่งาช้าง ก่อนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ลองชั่งน้ำหนักดูอีกทีว่าเชื่อผิดไปแล้วจะเดือดร้อนอะไรหรือไม่
โกหกแนบเนียนโดยการสนับสนุนของ AI ใช้ได้เสมอกับคนฉลาดที่ไม่คิดวิเคราะห์เรื่องนั้นอย่างมีสติ