ทำไมราชา EV อย่าง ‘อีลอน มัสก์’ ถึงไม่ติดลิสต์ผู้นำด้านความยั่งยืน?
เปิดสาเหตุ ทำไม ‘อีลอน มัสก์’ ซีอีโอเทสลา ผู้บุกเบิกวงการรถไฟฟ้า (EV) ถึงไม่ติดในรายชื่อผู้นำความยั่งยืนปี 2024 ของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes)
อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลา (Tesla) และ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการเทคโนโลยีและยานยนต์ไฟฟ้า
มัสก์ คือคนที่ผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คน และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ที่นำเทสลาสู่ความสำเร็จด้วยการเปิดตัว Tesla Roadster ในปี 2008 ซึ่งไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้คนมองยานยนต์ไฟฟ้า แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในรายชื่อ Forbes Sustainability Leaders List 2024 จัดทำโดยนิตยสารฟอร์บส์ ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรก มัสก์ กลับไม่ติดอยู่ในรายชื่อนี้ จึงเกิดคำถามว่า ทำไมบุคคลที่เคยเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเขาถึงหลุดจากรายชื่อผู้นำด้านความยั่งยืน?
การจัดอันดับดังกล่าวไม่ได้พิจารณาจากผลงานในอดีต หากแต่มุ่งเน้นไปที่ผลงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมัสก์กลับทำได้ไม่ดีพอ
การเสื่อมถอยของเทสลา
เทสลาเคยเป็นบริษัทที่นำหน้าคู่แข่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นผู้สร้างแรงกระตุ้นให้บริษัทอื่นๆ หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน อุตสาหกรรมนี้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะรถยนต์นับเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซคาร์บอน
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จเหล่านี้ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องราวในอดีต เมื่อเทสลาต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการล่าช้าของผลิตภัณฑ์หลัก เช่น Cybertruck และ Tesla Semi
Cybertruck ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 ถูกคาดหวังว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะพลิกโฉมรถยนต์ไฟฟ้า แต่กลับกลายเป็นโครงการที่ถูกล่าช้าหลายปี และมักถูกล้อเลียนในโลกออนไลน์ จากการเปิดตัวที่ล้มเหลวและปัญหาด้านการผลิตจนทำให้รถถูกเรียกคืนหลายครั้ง ส่งผลให้รถรุ่นนี้ขาดความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ Tesla Semi ซึ่งเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าที่ถูกโปรโมทมาตั้งแต่ปี 2017 ก็ยังไม่สามารถออกสู่ตลาดได้อย่างที่คาดหวัง ขณะที่คู่แข่งเช่น Rivian กลับประสบความสำเร็จในการส่งมอบรถยนต์ในตลาดการขนส่งเชิงพาณิชย์ ซึ่งทำให้ RJ Scaringe ซีอีโอของ Rivian ติดในรายชื่อผู้นำด้านความยั่งยืนของฟอร์บส์
มัสก์มีปัญหาด้านสื่อสังคม
แม้ว่ามัสก์จะเคยแสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนในการผลักดันเทคโนโลยีที่ยั่งยืน เช่น การผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์และการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ในช่วงหลังเขาดูเหมือนจะเบี่ยงเบนจากเป้าหมายเดิมไปทำโครงการอื่นๆ มากขึ้น
เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์ Tesla Bot และการซื้อกิจการ Twitter (X) ที่สร้างกระแสและคำวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเขาปล่อยให้แพลตฟอร์ม X กลายเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลผิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกลุ่ม Climate Action Against Disinformation รายงานว่าแพลตฟอร์ม X นั้นจัดการกับข้อมูลผิดด้านนี้ได้แย่ที่สุดในบรรดาโซเชียลมีเดียหลักๆ ทั้งหมด
นอกจากนี้ SpaceX ซึ่งเป็นบริษัทการสำรวจอวกาศของมัสก์ ยังเผชิญกับการสอบสวนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม บริษัทถูกกล่าวหาว่าปล่อยสารมลพิษจากสถานที่ปล่อยจรวดลงสู่แหล่งน้ำในเท็กซัส ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่มัสก์เคยกล่าวไว้
การละทิ้งวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม
ในอดีต มัสก์ เคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าต้องการเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้พลังงานสะอาด แต่ในปีนี้เขากลับแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไปในบทสนทนากับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเขากล่าวว่าไม่จำเป็นต้องเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแสดงถึงการละเลยความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม
ที่สำคัญ เทสลายังลบแถลงการณ์เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศจากเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามัสก์อาจไม่ได้มุ่งมั่นกับประเด็นนี้เหมือนเมื่อก่อน
ท้ายที่สุดแล้ว การที่อีลอน มัสก์ไม่ติดอยู่ในรายชื่อผู้นำด้านความยั่งยืนครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เคยมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าบทบาทของเขาในด้านนี้กำลังเสื่อมลง ในขณะที่ผู้นำคนอื่นๆ เช่น หวัง ชวนฝู ซีอีโอของ BYD และ RJ Scaringe ของ Rivian กำลังเดินหน้าอย่างมั่นคง มัสก์จะต้องปรับทิศทางหากต้องการกลับมาเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืนอีกครั้ง