กฎหมายว่าด้วยการใช้ซิมการ์ดในทางที่ผิด
เหมือนกับบ้านเรา สิงคโปร์กำลังเผชิญกับการหลอกลวงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงผ่านทางโทรศัพท์ในปี 2566 เพียงปีเดียวมีรายงานคดีหลอกลวงมากกว่า 46,000 คดี
ส่งผลให้เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 651.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นนี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายบังคับใช้กฎหมายและเรื่องอื่น ๆ ซึ่งกำหนดความผิดใหม่ที่มุ่งเป้าไปที่การใช้ซิมการ์ดในประเทศในทางที่ผิด
กฎหมายนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Law Enforcement and Other Matters Act 2024 หรือชื่อที่รู้จักกันว่า กฎหมายว่าด้วยการใช้ซิมการ์ดในทางที่ผิด หรือ SIM Misuse Act
เนื้อหาสำคัญของกฎหมายนี้มีเป้าหมายหลัก 3 กลุ่มคือ
(1) ประชาชนที่ใช้ซิมการ์ด: บุคคลที่รู้ว่าซิมการ์ดของตนถูกนำไปใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การหลอกลวง จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ผู้กระทำผิดซ้ำอาจต้องเผชิญกับโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้น
(2) ผู้ค้าปลีก: ผู้ค้าปลีกที่ขายซิมการ์ดโดยไม่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องหรือไม่รอบคอบหรือผู้ที่อำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนซิมการ์ดโดยมิชอบจะต้องระวางโทษเช่นเดียวกับสมาชิกโทรคมนาคมที่ทำผิด
(3) คนกลาง: บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายซิมการ์ดที่ผิดกฎหมายอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนไปยังผู้หลอกลวง ก็ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ในรายละเอียดผู้ค้าปลีกซิมการ์ดซึ่งเป็นบุคคลที่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับผู้ซื้อที่เป็นมิจฉาชีพมากที่สุดก็ถูกกำหนดภาระหน้าที่อีกหลายประการ เช่น
- ผู้ค้าปลีกต้องทำ KYC (Know Your Client) ทำนองเดียวกับธนาคาร ต้องตรวจสอบยืนยันตัวตนของลูกค้าโดยใช้เอกสารประจำตัวที่เชื่อถือได้
- ผู้ค้าปลีกต้องเก็บบันทึกข้อมูลประจำตัวของลูกค้าอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมถึงประเภทของเอกสารประจำตัวที่ใช้ หมายเลขเอกสารและวันเดือนปีเกิดของบุคคลนั้น ไม่สามารถขายซิมการ์ดให้กับบุคคลที่ต้องการลงทะเบียนในนามของบุคคลอื่น
- ผู้ค้าปลีกต้องตื่นตัวและรับรู้ถึงสัญญาณเตือนที่อาจบ่งชี้ถึงกิจกรรมที่น่าสงสัย เช่น ลูกค้าพยายามซื้อซิมการ์ดจำนวนมาก หรือให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน หากผู้ค้าปลีกสงสัยว่ามีกิจกรรมฉ้อโกงใด ๆ พวกเขามีหน้าที่ต้องรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างของประเทศสิงค์โปร์ที่ต้องการจัดการกับปัญหาการหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เกิดขึ้น อ่านแล้วก็นึกถึงประเทศไทยของเราว่า จะดำเนินการอย่างไรแค่ไหน.