AI เติบโต-ไร้กรอบ? จับตาอนาคตเทคโนโลยีสหรัฐ หลังทรัมป์นั่งเก้าอี้ผู้นำ
ทิศทางเทคโนโลยีสหรัฐ หลัง ‘ทรัมป์-มัสก์’ ร่วมมือ คาดนโยบายด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะผ่อนคลาย ผู้บริหารเทคฯ ยักษ์ใหญ่แห่สนับสนุน แม้สังคมห่วงขาดการกำกับดูแล
การกลับมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในฐานะว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ทำให้หลายฝ่ายจับตามอง “ทิศทางนโยบายด้านเทคโนโลยี” ที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่นโยบายการกำกับดูแลด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงอย่างมีนัยสำคัญ
ซิลิคอนวัลเลย์พลิกขั้ว ซีอีโอเทคฯ แห่สนับสนุนทรัมป์
ทันทีที่ผลการเลือกตั้งประกาศชัยชนะของทรัมป์ บรรดาซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างรีบส่งข้อความแสดงความยินดี ซึ่งแตกต่างจากท่าทีที่ระมัดระวังในการเลือกตั้งปี 2016 และ 2020
ผู้บริหารจาก Amazon, Apple, Google, Meta และ Microsoft ต่างโพสต์ข้อความสนับสนุนบนโซเชียลมีเดีย สะท้อนว่า พวกเขา “มีความหวัง” ที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีคนใหม่ หลังจากที่พวกเขาเผชิญกับการตรวจสอบด้านการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มงวดในยุครัฐบาลไบเดน
มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้บริหารเมตาเจ้าของ Facebook และ Instagram แสดงท่าทีสนับสนุนทรัมป์อย่างชัดเจนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเคยเรียกทรัมป์ว่าเป็น “นักสู้” หลังเหตุพยายามลอบสังหาร
เขายังเขียนจดหมายถึงคณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนราษฎรที่นำโดยพรรครีพับลิกัน กล่าวหาว่าไบเดนกดดันให้เมตา “เซ็นเซอร์” เนื้อหาเกี่ยวกับโควิด-19 ระหว่างการระบาด ล่าสุดเขายังโพสต์แสดงความยินดีกับชัยชนะของทรัมป์บนแพลตฟอร์ม Threads พร้อมระบุว่า “หวังว่าจะได้ร่วมงานกับคุณ”
‘มัสก์’ ตัวเชื่อมสำคัญ ทุ่มงบหนุนทรัมป์-หวังลดกฎเหล็ก
ด้าน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้บริหาร X (Twitter) กลายเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างทรัมป์กับวงการเทค หลังจากทุ่มเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สนับสนุนการหาเสียง และรณรงค์อย่างแข็งขันบนแพลตฟอร์มเอกซ์ ทรัมป์ตอบแทนด้วยการเรียกมัสก์ว่าเป็น “อัจฉริยะระดับสุดยอด” และสัญญาจะมอบบทบาทที่ปรึกษาด้านการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและการผ่อนคลายกฎระเบียบ
เตรียมรื้อนโยบาย AI ยุคไบเดน คาดเอื้อภาคเอกชน
ในด้านนโยบาย คาดว่าทรัมป์จะยกเลิกคำสั่งบริหารเกี่ยวกับเอไอของไบเดนในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งจะส่งผลให้ “การกำกับดูแลเอไอผ่อนคลายลง” แม้หน่วยงานรัฐจะยังคงมีอำนาจดูแลการใช้งานเอไอในด้านต่างๆ ตามปกติ แต่ท่าทีต่อต้านการควบคุมกำกับมีความชัดเจน และประเด็นนี้กำลังกลายเป็นเรื่องการเมืองมากขึ้น แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงพรรครีพับลิกันจะห่วงเรื่องขาดการกำกับดูแล
ลินา ข่าน (Lina M. Khan) ประธานคณะกรรมการการค้าเสรี (FTC) ในยุครัฐบาลไบเดน ผู้ที่เคยเข้มงวดกับการควบรวมกิจการและการผูกขาดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อาจถูกปลดออกจากตำแหน่ง
“ทรัมป์ได้ประกาศชัดเจนว่าจะยกเลิกคำสั่งควบคุมเอไอของไบเดนในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง แม้หน่วยงานรัฐจะยังคงกำกับดูแลการใช้งานเอไอตามปกติ แต่จุดยืนต่อต้านการควบคุมของเขานั้นชัดเจนมาก” เนท ชาราดิน (Nate Sharadin) นักวิจัยจาก Center for AI Safety กล่าว
OpenAI สู่มูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ท่ามกลางข้อพิพาทกับมัสก์
มัสก์ยังได้ฟ้องร้อง OpenAI สตาร์ตอัปที่เขาร่วมก่อตั้งกับ แซม อัลต์แมน (Sam Altman) ในปี 2015 ว่าหลงทางจากภารกิจดั้งเดิมที่จะพัฒนาเอไอเพื่อประโยชน์ของทุกคน โดย OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT ได้เติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกที่ 150,000 ล้านดอลลาร์
ท่าทีของอัลต์แมนต่อชัยชนะของทรัมป์สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในซิลิคอน วัลเลย์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จากที่เคยเขียนในปี 2016 ว่า “นี่รู้สึกเหมือนเรื่องเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิต” มาเป็น “ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีทรัมป์ ผมหวังว่าเขาจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในตำแหน่งนี้”
นโยบายเทคโนโลยียุคทรัมป์ 2.0 ‘เปิดเสรี แต่ยังคุมชิปจีน’
ความใกล้ชิดระหว่างทรัมป์กับกลุ่มนักลงทุนเทคโนโลยีรายใหญ่อย่างมัสก์ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่านโยบายด้านเทคโนโลยีจะเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทรัมป์น่าจะยังคงนโยบายควบคุมการส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นศูนย์กลางของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและภูมิรัฐศาสตร์กับจีน และจะใช้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศรวมถึงในภาคเทคโนโลยี เช่นเดียวกับที่เคยทำในสมัยแรก
สำหรับ TikTok ที่เคยเผชิญความเสี่ยงถูกแบนในสหรัฐ เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคง ท่าทีของทรัมป์เปลี่ยนไปจากปี 2020 โดยเขาระบุว่าจะไม่แบนแอปพลิเคชันนี้ เพราะเห็นว่าการมีคู่แข่งของเฟซบุ๊กเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ
ภาพรวมแล้ว การกลับมาของทรัมป์น่าจะนำมาซึ่งนโยบายที่ “เป็นมิตรกับภาคเทคโนโลยี” มากขึ้น ผ่านการลดการควบคุมกำกับและการฟ้องร้องด้านการต่อต้านการผูกขาด แม้จะมีความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรม การแสวงหากำไร และผลประโยชน์สาธารณะก็ตาม
อ้างอิง: Bulletin และ The Financial Times