แล็บทดสอบวัคซีนไข้เลือดออกในไทย

แล็บทดสอบวัคซีนไข้เลือดออกในไทย

กระทรวงวิทย์ฯ ตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีนไข้เลือดออก แห่งแรกในอาเซียน

กระทรวงวิทย์ฯตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีนไข้เลือดออกแห่งแรกในอาเซียน หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรองรับประชากรกลุ่มเสี่ยง 100 ประเทศทั่วโลก

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ไข้เลือดออกถือเป็นโรคระบาดที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยมานาน แม้จะมีการพัฒนาวัคซีนมาตลอด 20 ปี โดยโรงเรียนแพทย์อย่าง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนใดพัฒนาสำเร็จในห้องปฏิบัติการ และทำการทดลองทางคลินิกเพื่อสู่ขั้นตอนการผลิตระดับอุตสาหกรรม เนื่องจากยังขาดงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อให้ได้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น จึงทำให้การแพร่ระบาดขยายวงกว้างไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนโยบายในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเสี่ยง จึงได้มอบหมายให้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ดำเนินโครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้มาตรฐานสากลแห่งแรกของอาเซียน เพื่อรองรับการพัฒนาวัคซีน และหากการพัฒนาสำเร็จประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนรองรับประชากรที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั่วโลก

นายวรวัจน์ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก จำเป็นต้องบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาหลายหน่วยงาน โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดวาระแห่งชาติด้านวัคซีน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้พัฒนาโรงงานผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรมและ TCELS ดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการฯ ทั้งนี้เพราะวัคซีนมีความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนและความมั่นคงของชาติ

ประเทศไทยจึงควรสร้างหลักประกันว่าจะมีวัคซีนที่จำเป็นในปริมาณที่เพียงพอที่จะใช้ป้องกันโรคแก่ประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองเพื่อการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนของประเทศไทยในระยะยาว

หากประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เอง นอกจากจะลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ยังมีโอกาสส่งออกวัคซีนที่มีศักยภาพจากการผลิตภายในประเทศ นำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

นายกำจร พลางกูร รองผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า ในส่วนของห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีนนั้น TCELS ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยเริ่มจากการรองรับการทดสอบทางวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์เพื่อนำมาใช้ป้องกันโรคนี้ อีกทั้งยังสามารถรองรับการทดสอบวัคซีนชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป จะได้ส่งต่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าธนบุรี พัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนเพื่อการทดสอบในคนต่อไป โดยขั้นตอนดังกล่าวในเวลาประมาณ 2 ปี ใช้งบประมาณในการดำเนินการ 60 ล้านบาท

สำหรับสถิติการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น องค์การอนามัยโรครายงานว่า ขณะนี้พบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศ กระจายอยู่ในแถบแอฟริกา อเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการระบาดของโรคสูง มีประชากรเสี่ยงต่อการเป็นโรคถึง 1,500 ล้านคน

มีการประมาณการว่าจะมีการติดเชื้อปีละ 50 ล้านคนและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 500,000 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 2.5-20 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สำหรับประเทศไทยในปี 2555 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั้งสิ้น 74,250 ราย และเสียชีวิต 79 ราย คิดเป็นอัตราส่วนผู้ติดเชื้อ 116 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยมีผู้ป่วยในภาคกลาง 30,562 คน เฉพาะในกรุงเทพมหานครมีถึง 9,600 คน

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1313 หรือ 02-6445499 , www.tcels.or.th,www.facebook.com/tcelsfan