'ดิจิทัลวัฒน์' โลกธุรกิจก้าวกระโดด

'ดิจิทัลวัฒน์' โลกธุรกิจก้าวกระโดด

เมื่อการจับจ่ายสินค้าเริ่มเปลี่ยนรูปแบบจากชิ้นสินค้าจริงสู่'ดิจิทัล' ส่งผลให้ทิศทางตลาดบนโลกดิจิทัล ทั้งโมบายและออนไลน์เกิดการเปลี่ยนแปลง

นายสีหนาท ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์การชำระเงิน และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดที่น่าสนใจในงานสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ “Digital Evolution : Fast Forward Your Business” ธุรกิจก้าวกระโดดในยุคดิจิทัลวัฒน์ จัดโดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ปัจจุบันสัดส่วนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอีคอมเมิร์ซแบ่งเป็นบิสิเนสสู่คอนซูเมอร์ (บีทูซี) 75.2% บิสิเนสสู่บิสิเนส (บีทูบี) 23.4% และบิสิเนสสู่ภาครัฐ (บีทูจี) 1.4%

ทั้งนี้ แยกตามอุตสาหกรรมสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดอับดับ 1 คือการท่องเที่ยวและโรงแรม รองลงมาเป็นไอทีและแกดเจ็ท ตามมาด้วยเสื้อผ้าและแฟชั่น ธุรกรรมหลักๆ ในไทยยังเป็นเงินสดและการโอนเงิน 75% ส่วนบัตรเครดิต เดบิตและออนไลน์เพียง 25%

เขากล่าวถึงเทรนด์ใหม่ที่กำลังเป็นกระแสคือการใช้จ่ายผ่านสมาร์ทดีไวซ์อย่างสมาร์ทโฟน แทบเล็ต ส่งผลให้ผู้ให้บริการธนาคารต้องพัฒนาระบบหลังบ้านที่ดีรองรับ ที่พบขณะนี้การจับจ่ายสินค้าเริ่มเปลี่ยนรูปแบบจากที่เป็นชิ้นสินค้าจริงสู่ดิจิทัล เช่น แอพพลิเคชั่น เพลง หนัง ภาพยนตร์ ดิจิทัลคอนเทนท์ต่างๆ ดังนั้นคนทำธุรกิจมีโอกาสเข้าไปได้ในทันที วันนี้โดยการเชื่อมต่อ รูปแบบในอนาคตคาดว่าจะง่ายๆ ด้วยปลายนิ้วมือ

“ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีมากที่จะเข้ามา เนื่องจากเวลานี้ตลาดมีความพร้อม มีทั้งด้านอินฟราสตรักเจอร์ ช่องทางการเปิดร้านค้าออนไลน์โดยเฉพาะบนโซเชียล คอมเมิร์ซและการเข้าถึงของลูกค้าที่ง่ายขึ้น รวมทั้งตัวดีไวซ์ และช่องทางการจ่ายเงิน” นายสีหนาท กล่าว

เน้นใช้ง่าย-ปลอดภัย

เขาให้ข้อมูลว่า การใช้จ่ายผ่านช่องทางการจ่ายเงินของธนาคารกสิกรไทย โดยบัตรเครดิตของธนาคารเองมีสัดส่วน 52% บัตรเครดิตและเดบิตจากธนาคารอื่นๆ 20% บัตรอื่นๆ จากสถาบันการเงินต่างชาติ 27% บัตรเดบิตกสิกรไทย 1% รวมทั้งหมดจากต้นปีนี้ถึงปัจจุบันมีมูลค่า 33,800 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 40% อัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่า การใช้บัตรเดบิตยังมีอยู่น้อยมาก ดังนั้นธนาคารรวมถึงแบงก์ชาติกำลังเร่งผลักดันการใช้ส่วนนี้ให้มากขึ้นไป โดยกลุ่มลูกค้าที่มีโอกาสคือนักเรียน นักศึกษา ที่มีบัตรเครดิตไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ลูกค้ากังวลประการแรกคือ ความปลอดภัย ดังนั้นที่ต้องบริหารจัดการเพื่อกระตุ้นการขายและกำลังซื้อ ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า ฝั่งร้านค้าหวังทำได้เร็ว จัดการง่าย เพิ่มช่องทางการขายสินค้าได้ง่าย ฝั่งลูกค้า คือ ความสะดวก ราคาถูกกว่า และทำได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงตามลำดับ

ขณะที่ปัจจัยซึ่งจะส่งผลให้มีทัศนคติไม่ดีต่อระบบอีคอมเมิร์ซคือ สั่งจองแล้วถูกยกเลิก ลูกค้าไม่ชำระเงิน และความไม่เชื่อถือกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อนาคตต่อไปการจับจ่ายและซื้อขายจะมีการผสมผสาน ทำได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากความง่าย เอื้อให้ผู้ให้บริการเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าได้ดีขึ้น

การตลาดไร้ขอบเขต

นางสาวสุนีย์ โรจนโอฬารรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริการเสริมและ 3จี บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีโมบายสามารถเข้าถึงทุกคน เปิดโอกาสให้การทำตลาดบนโลกดิจิทัลมีอยู่ไม่มีขีดจำกัด ทำได้มีหลากหลายแง่มุมโดยรูปแบบที่น่าสนใจมีทั้งบันเทิงและข่าว ผ่านโมเดลการหารายได้ผ่านแอพโดยการโฆษณา และการใช้งานดาต้า

ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรวมทั้งตลาดไทยมี 90 ล้านราย คิดเป็นการเข้าถึงกว่า 132% สำหรับการเข้าถึงสมาร์ทโฟนมีสัดส่วน 23% จำนวน 20 ล้านเครื่อง แต่ละวันโทร 180 ล้านครั้ง เชื่อมเน็ตและเล่นแอพ มากกว่า 250 ล้านครั้ง 89% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีพฤติกรรมใช้งานทั้งวัน ในเวลาเดียวกันใช้ 4 จอคือ มือถือ แทบเล็ต โน้ตบุ๊คและโทรทัศน์

อย่างไรก็ดี บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดเชิงจำนวนผู้ใช้ราว 43% บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) 31% ขณะที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นราว 26% ทิศทางตลาดรายได้จากวอยซ์แนวโน้มลดลงทว่านอนวอยซ์โตขึ้นตามลำดับ

ข้อมูลระบุด้วยว่า จำนวนผู้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตทั้งบน 2จีและ 3จี รวมมี 35 ล้านราย เอไอเอสมีส่วนแบ่งการตลาด 42% ดีแทค 30% ทรู 28%

ส่วนข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ทุก 10% ที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 1%