USAID เปิดแล็บเพื่อการพัฒนาโลก
USAID เปิดตัวห้องแล็บเพื่อการพัฒนาโลก (U.S.Global Development Lab) มุ่งหวังขจัดความยากไร้ภายในปี 2030
องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้เปิดตัวห้องแล็บเพื่อการพัฒนาโลก (U.S. Global Development Lab) ซึ่งเป็นความร่วมมือภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวนมากในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ พลังงาน การศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ โดยมุ่งหวังให้เทคโนโลยีเหล่านี้เข้าถึงคนอย่างน้อย 200 ล้านคนภายในห้าปีข้างหน้า
ภายใต้โครงการนี้ USAID จะเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงนักวิทยาศาสตร์จำนวน 65 คนจากสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของอเมริกา และเพิ่มทุนจาก 127 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2008 เป็น 161 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ เพื่อสนับสนุนงานวิจัย นวัตกรรมและการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
นายราจีฟ ชาห์ ผู้บริหาร USAID กล่าวว่า “การจะแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาที่มีความยากและท้าทายนั้น USAID จะต้องหาวิธีการทำงานใหม่ ๆ โดยดึงเอาความสามารถที่ดีที่สุดจากเจ้าหน้าที่ของเราและองค์กรพันธมิตรรายใหม่ เพื่อทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาความยากไร้ โดยห้องแล็บนี้จะรวบรวมเอานักประดิษฐ์ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการ นักลงทุน ผู้นำธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาค้นคว้า ทดลอง และขยายผลเทคโนโลยีที่คุ้มค่าและมีอนาคตในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ”
นอกจากนี้ USAID ยังได้เปิดตัวโครงการทุนนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งในปีนี้จะสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของสหรัฐฯกว่า 60 คนให้นำความสามารถไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาด้านการพัฒนาตามมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนา 12 ประเทศ
ทั้งนี้ องค์กรพันธมิตรของห้องแล็บนี้มาจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Cargill, Cisco, Citi, Coca-Cola, DuPont, GlaxoSmithKline, Intel, Johnson & Johnson, Microsoft, Nike, Syngenta, Unilever, และ Walmart ภาคประชาสังคมและมูลนิธิต่าง ๆ เช่น Care, the Bill & Melinda Gates Foundation, Catholic Relief Services, Global Impact Investing Network, Plan, Save the Children, the Skoll Foundation, World Vision, the National Academy of Sciences, และ the Smithsonian Institution ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น The University of California at Berkeley, Duke University, Johns Hopkins University, Massachusetts Institute of Technology, Michigan State University, Stanford University’s Freeman Spogli Institute, Texas A&M University, and the College of William and Mary และประเทศสวีเดน
องค์กรพันธมิตรเหล่านี้จะนำมาซึ่งเทคโนโลยีและงานวิจัยที่ก้าวหน้า เครือข่ายผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ องค์กรชุมชนต่าง ๆ และเงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในตลาดเกิดใหม่ผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและความเป็นหุ้นส่วน
สำหรับในเอเชีย USAID ส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ การขจัดความยากจน และช่วยรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการเพื่อส่งเสริมการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่นในสัปดาห์นี้ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนและ USAID ร่วมกับ U.S.Mission to ASEAN ได้ริเริ่มโครงการนำร่องทุนนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งโครงการนำร่องนี้สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ 8 คนให้ทำงานเป็นเวลาหนึ่งปีในกระทรวงต่าง ๆ ในประเทศของตนเองเพื่อขยายการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่แล้วสำหรับการกำหนดนโยบายที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ USAID กำลังทดสอบการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาในหลายประเทศเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ดียิ่งขึ้นด้วยข้อมูลที่ได้รับการปรับปรุง เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชน