ใยไผ่+ใยไหม ลูกผสมเสริมเด่น
การคิดค้นนวัตกรรมเส้นใยและผ้าชนิดใหม่ ด้วยการผสมเส้นไหมกับเส้นใยไผ่ ให้เป็น"จุดขาย"ที่สร้างความแตกต่าง
การคิดค้นนวัตกรรมเส้นใยและผ้าชนิดใหม่ ด้วยการผสมเส้นไหมกับเส้นใยไผ่ ให้เป็น "จุดขาย" ที่สร้างความต่างทำให้ลูกค้าพึงพอใจกับสินค้าพื้นบ้าน ด้วยผลงานวิจัยของ ดร.ซิสิกกา วรรณจันทร์ คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
โจทย์สำคัญของการคิดค้นเส้นใยและผ้าชนิดใหม่ก็คือ การสร้างความแตกต่างของผ้าไหมในรูปแบบเดิม ที่มีข้อด้อยคือ ยืดหยุ่นได้น้อย ยับง่าย ซักยาก ต้องรีดอัดกลีบ ไม่ระบายความร้อนแต่ข้อด้อยเหล่านี้ก็ได้ถูกกำจัดไป โดยการพัฒนาเส้นไหมผสมเส้นใยไผ่กลายเป็นเส้นใยและผ้าชนิดใหม่ ทำให้ซักง่ายขึ้น ไม่ยับและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการรีดอัดกลีบ รวมคุณสมบัติที่ดีของเส้นใยทั้ง 2 ชนิดไว้ด้วยกัน เพราะคุณสมบัติของไผ่ดีคือ นุ่ม พลิ้ว มีน้ำหนัก และช่วยระบายอากาศได้ดี สวมใส่สบาย
มูลค่าเพิ่มในมือนักวิจัย
จิราภรณ์ กระแสเทพ ผู้ช่วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ที่มาของแนวคิดนี้เกิดจากชาวบ้านในจังหวัดสุรินทร์ ขายผ้าไหมไม่ได้ เนื่องจากทุกจังหวัดมีผ้าไหมขายเหมือนกันหมดอาจารย์ซิสิกกา จึงลงไปศึกษาพื้นที่ก่อนว่าจะ สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าไหมสุรินทร์ โดยแนะนำให้ทดลองทอใยไหมกับเส้นใยไผ่ด้วยกัน ในครั้งแรกมีปัญหาบ้างแต่ก็สามารถแก้ได้จนกลายเป็นผ้าไหมผสมไผ่ เกิดลวดลายที่สวยงาม เพราะเส้นใยไผ่ไปช่วยยกเส้นไหมทำให้ลายยกดอกนูน ดูมีมิติมากขึ้น
"กลายเป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มให้กับผ้าไหม ผ้าไหมผสมไผ่ ลายยกดอก สำหรับตัดผ้าหนึ่งชุดขนาด 4 เมตร ราคาขาย 15,000 บาท ถ้าเทียบกับไหมปกติก็แพงขึ้น 25-30% ด้วยจุดขายที่แตกต่างทำให้ชุมชนสามารถขายสินค้าในราคาสูงกว่าคู่แข่ง กลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อ ส่งผลให้ชาวบ้านมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่าในอดีต"
ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์ส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการทอผ้ายกดอก โดยใช้ตั้งแต่ 16 ตะกอขึ้นไปในการดึงเส้นไหมยืนให้เปิดเป็นช่องขึ้นลงสลับกัน เพื่อเป็นช่องให้สอดกระสวยที่บรรจุหลอดด้ายพุ่งเข้าไป เป็นการเปิดลายด้วยการเหยียบตะกอขึ้นลงครั้งละ 2 ตะกอพร้อมกัน เมื่อทอไปเรื่อยๆจะเกิดเป็นลายนูนขึ้นมาจากเนื้อผ้าและพัฒนาเป็นแบบ 16 ตะกอขึ้นไป ซึ่งเป็นการทอแบบปิดหลัง ดังนั้น คณะนักวิจัยกำลังพัฒนาเทคนิคการทอผ้า 36 ตะกอ ที่มีลวดลายที่สวย ใหญ่กว่าเดิม
"ขณะนี้กำลังพัฒนาเครื่องทอและหาทุนวิจัย เพื่อที่จะให้ชาวบ้านทอง่ายขึ้นเป็นลักษณะกึ่งเครื่องจักรกับงานทำมือ เพราะต้องการอนุรักษ์งานฝีมือของชาวบ้าน เครื่องที่พัฒนาขึ้นเป็นแค่ตัวช่วยในการเหยียบตะกอเพราะถ้าเกิน 20 ตะกอ ขาจะไม่ถึงชาวบ้านจะทอปิดไม่ได้ เรจึงาต้องหาเครื่องเข้ามาช่วยเพื่อให้ทอสะดวกขึ้น" ผู้ช่วยนักวิจัยกล่าว
คืนความสุขให้ชุมชน
ผู้ช่วยนักวิจัยสาว ระบุว่า จากการนำเส้นใยไผ่เข้ามาทอร่วมกับเส้นใยไหม ทำให้ทอง่ายขึ้น เพราะเส้นใยไผ่มีขนาดใหญ่กว่าเส้นใยไหม ยิ่งถ้ามีเครื่องเข้ามาช่วยทำให้ทอเร็วขึ้น จากปกติต่อหนึ่งชุดขนาด 4 เมตร ทอ 8 ชั่วโมงต่อวันใช้เวลา 3 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ต้องทำงานอย่างอื่น คาดว่าจะใช้เวลาลดลง สามารถทอเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ ดร.ซิสิกกา ในฐานะเชี่ยวชาญเรื่องเส้นใยได้พยายามสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เช่น ลายนี้สำหรับจังหวัดมหาสารคาม แยกชัดเจนจากลายในพื้นที่อื่นๆ จะส่งผลให้แนวทางการพัฒนาผ้าทอในรูปแบบต่างๆ มีจุดขายที่โดดเด่นและแตกต่างในไปในแต่ละพื้นที่ สามารถกลายเป็นของที่ระลึกประจำจังหวัดได้ด้วย
"ล่าสุดกำลังทำผ้าใยกล้วย หรือเรียกชื่อว่า ผ้าไหมแก้วจากเส้นกล้วย อยู่ระหว่างการเสนอขอทุนวิจัยเพื่อทดลอบเส้นใยที่คิดค้นขึ้น หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการคิดค้นเส้นใยผสมจากใยกก ใยไผ่และใยไหม ออกมาช่วยพัฒนาสิ่งทอให้กับชุมชนต่างๆ ในลักษณะของงานบริการวิชาการ " ผู้ช่วยนักวิจัย กล่าว