กังหันลมระหัดวิดน้ำ
พระจอมเกล้าลาดกระบัง ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเปิดตัวกังหันลมระหัดวิดน้ำ
พระจอมเกล้าลาดกระบัง ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เร่งแก้ปัญหาต้นทางการเกษตรกรรมเปิดตัวกังหันลมพร้อมระหัดวิดน้ำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัญญา แดงวิไลลักษณ์ ประธานสาขาวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวว่าสถาบัน ฯ ได้ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน พัฒนาระหัดวิดน้ำชนิดใหม่ โดยการศึกษา ปรับปรุง รูปแบบ และ วัสดุให้เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพปัจจุบัน โดยมีการดำเนินงานรวบรวมข้อมูลทางเทคนิคของระหัดวิดน้ำ ที่มีการใช้งานในสภาพปัจจุบัน ตลอดจนกำหนดแนวทางการปรับปรุง รูปแบบ และ วัสดุให้เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการส่งเสริม การสนับสนุน และการสร้างเพิ่มกลยุทธ์ เพื่อให้มีการใช้งานระหัดวิดน้ำด้วยพลังงานลมชนิดใหม่อย่างแพร่หลาย โดยสถาบัน มุ่งหวังให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการสูบน้ำเข้านาจากเครื่องสูบน้ำประเภทท่อสูบน้ำ หรือที่เรียกทั่วไปว่าท่อพญานาค ซึ่งมีการใช้กันในชายทะเล นาเกลือ นาข้าว ฯลฯ ในหลายจังหวัดมาใช้ระหัดวิดน้ำชนิดใหม่ จะทำให้เกษตรสามารถลดต้นทุนในการเพาะปลูก 3- 5 % จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแต่การบำรุงรักษา ตลอดจนเป็นการรองรับแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่จะมีราคาสูงขึ้นอีกในอนาคต
สำหรับ ลักษณะการทำงานของนวัตกรรมระหัดวิดน้ำชนิดใหม่นี้ มีรายละเอียดโดยกังหันลมทำหน้าที่ในการรับพลังงานลมและแปลงเป็นพลังงานกลในรูปของแรงบิดจากการหมุนของเพลากังหัน แรงบิดจากการหมุนจะถูกส่งผ่านล้อส่งกำลัง และส่งผ่านโซ่หรือสายพานส่งกำลังเพื่อไปขับวงล้อของใบระหัด ทำให้ใบระหัดเกิดการเคลื่อนที่ไปตามรางและกวาดน้ำลำเลียงไปตามรางเพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่ที่ต้องการ โดยความพิเศษนั้นใช้ตลับลูกปืนมาเป็นตัวเชื่อมเพื่อถ่ายทอดแรงที่เกิดขึ้นจากเพลาลงไปสู่ชิ้นส่วนอื่นๆ และลดแรงเสียดทานระหว่างผิวสัมผัส ทำให้ช่วยเพิ่มสมรรถนะการทำงานของชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่ ลดการสึกหรอ ตลับลูกปืนมักจะผลิตโดยใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานและประโยชน์สูงสุด สามารถใช้งานได้ยืดยาวนาน ทนทานต่อความร้อนและแรงเสียดทานได้ดี ไม่แตกหรือเสีย อีกทั้งระหัดวิดน้ำยังเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่นักวิจัยจากหลายประเทศเข้ามาศึกษาดูงาน ระหัดวิดน้ำโฉมใหม่นี้ มีต้นทุนถูกลงแต่เพิ่มประสิทธิภาพในการวิดน้ำได้สะดวกรวดเร็ว ตลอดจนผสมการทำงานเป็น 3 ระบบ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า พลังงานนำมันเชื้อเพลิง และพลังงานลม ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่อเครื่องเพียง 60,000 บาท หรือถูกกว่าครึ่งหนึ่งของราคาในท้องตลาด อีกทั้งถ้าเกษตรกรนำไปติดตั้งในบริเวณที่เหมาะสมสามารถใช้เพียงพลังงานลมเพื่อใช้งาน