สยามแม่โจ้ ปลาบึกโอเมก้าสูง
นักวิจัยสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจให้กับวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดลูกผสม ที่ให้โอเมก้า9 สูงกว่าปลาทะเล3เท่า
ใครจะคิดว่า นักวิจัยจะสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจให้กับวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดลูกผสมให้โอเมก้า 9 สูงกว่า ปลาทะเล 3 เท่า ได้ดีไม่แพ้ โมเดลการเลี้ยงปลาทับทิม ไก่ของซีพี
"บึกสยามแม่โจ้" ปลาลูกผสมที่เกิดจากปลาบึกและปลาสวายนำมาผสมข้ามสายพันธุ์กันและพัฒนาให้เป็นปลาที่มีเนื้อสีขาวโตเร็ว ขจัดจุดด้อยของปลาบึกที่โตช้าและเป็นสัตว์อนุรักษ์
:นักวิจัยถอดบทเรียนซีพี
จุดเด่นของปลาสายพันธุ์ใหม่คือมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีนมากกว่าปลาสวายนี่คือผลงานวิจัย ปลาหนังลูกผสมน้ำจืดสายพันธุ์ใหม่สำหรับไส้กรอกปลาโอเมก้า 3 6 และ9 ของ รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพันและทีมงาน ที่ดำเนินการมากว่า 3ปี
" ผมมองว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาน้ำจืดในประเทศไทย มีศักยภาพสูงพอๆกับการเลี้ยงกุ้ง เพราะปัจจุบันคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ อาหารสุขภาพกลายเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น โยงสู่อาชีพให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ด้วย จึงเกิดแนวคิดพัฒนาสายพันธุ์ปลาลูกผสมที่ดี พร้อมให้การส่งเสริมเกษตรกรผู้มีอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเหมือนกับซีพี "
รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เล่าที่มีของแนวคิด ในการผลักดันโมเดลการพัฒนาสายพันธุ์ปลาควบคู่กับการทำธุรกิจ ให้เกิดขึ้น เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่พวกเขาได้ขับเคลื่อนพันธกิจ ด้วยการส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนหันมา เลี้ยงปลาลูกผสมสายพันธุ์ใหม่นี้ เพราะนอกจากจะนำไปบริโภคและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เนื้อปลาแล่พร้อมปรุง ไส้กรอกปลา ไส้อั่วปลา
นอกจากนี้ยังสามารถนำส่วนไขมันจากช่องท้องและส่วนหัว ที่เหลือจากการแปรรูปมาสกัดเป็นน้ำมันปลาคุณภาพดี มีโอเมก้าสูงเทียบเคียงได้กับปลาทะเล โดยที่โดดเด่นที่สุดคือ น้ำมันปลาจากปลาบึกสยามมีโอเมก้า 9 สูงเทียบเท่าน้ำมันงา หรือน้ำมันมะกอกที่มีส่วนช่วยในเรื่องการทำงานของสมองและการต้านอนุมูลอิสระ
แนวคิดเพื่อสังคมที่ใช้พื้นฐานความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และการเกษตรมาร่วมมือกับเครือข่ายในวิสาหกิจชุมชนให้ทุกคนในชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และแผ่ขยายความรู้ไปยังวิสาหกิจชุมชนอื่นๆต่อไป โมเดลการเลี้ยง"บึกสยามแม่โจ้" ที่ส่งมอบให้กับวิสาหกิจชุมชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ช่วยแก้ปัญหาราคาตก เกษตรกรมีรายได้ดีเนื่องจากสามารถสร้างผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถเพื่อเพิ่มรายได้และมีฐานะดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยรักษาทรัพยากรปลาที่สำคัญในเชิงอนุรักษ์ได้อีกทางหนึ่ง
:เส้นทางเกษตรแบบยั่งยืน
ปัจจุบันโครงการวิจัยและถ่ายทอดปลาบึกสยามแม่โจ้เพื่อวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ พื้นที่อำเภอพาน มีพื้นที่เลี้ยงปลากว่า 6,000 ไร่ สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 25% ส่วนจังหวัดที่ได้ผ่านการอบรมและมีบ่อกระชังในการสาธิตเลี้ยงปลาบึกแม่โจ้แล้ว ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ ลำปาง เชียงราย และเชียงใหม่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น จึงมีแผนที่ขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงไปทั่วประเทศ
"จากปีก่อนเรามีผลผลิต 5 ตันปีนี้เพิ่มขึ้น 15ตัน เฉลี่ย 100 กิโลต่อเดือนยังไม่เพียงพอ แต่นั่นหมายความว่า เป็นโอกาสที่ดีในการทำตลาด "
นอกจากการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงปลาบึกสยามแม่โจ้แล้ว ทางทีมงานยังได้ร่วมกับภาคเอกชนในการสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากปลาบึกสยามแม่โจ้ให้กับเกษตรกร อาทิ ไส้อั่วปลาบึกสยามแม่โจ้ ไส้กรอกปลาบึกสยามแม่โจ้ รวมถึง ก้อนไขมัน ที่ได้จากบริเวณช่องท้องปลาบึกสยามแม่โจ้ แยกได้เป็นไขมันอิ่มตัว นำไปผลิตเป็นลิปบาล์ม ส่วนไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันดีมีประโยชน์ นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมันปลา โดยมีบริษัทเอกชนอย่าง บริษัท วนัสนันท์ จำกัด ให้การสนับสนุนการแปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์
" เราเปิดโอกาสที่ให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาช่วยในการแปรรูปและทำการตลาดเพื่อขยายฐานตลาดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปลาบึกสยามแม่โจ้ ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะจุดประสงค์เราส่วนหนึ่งต้องการเข้าไปแย่งแชร์ในตลาดปลาดอลลี่ จากประเทศเวียดนามที่เข้ามาคิดเป็นมูลค่าปีละ 3,000ล้านบาท หรือปริมาณ 3หมื่นตันต่อปี แต่กลุ่มเป้าหมายของปลาบึกสยามแม่โจ้ จะเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อระดับกลางจนถึงบน ราคากิโลกรัมละ 150-160 บาทขณะที่ดอลลี่ราคากิโลกรัมละ 100 บาท"
สำหรับเป้าหมายในอนาคตคือการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ โดยการใช้ความเชี่ยวชาญไปทำงานร่วมกับเหล่าพันธมิตร ผ่านเครือข่ายภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายผลในวงกว้างมากขึ้นด้วยการสนับสนุนให้ลงทุนเพาะเลี้ยงปลาลูกผสมสายพันธุ์ "สยามแม่โจ้ " เพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะการเพาะเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น
โดยแยกออกจากการทำตลาดในประเทศที่ให้วิสาหกิจชุมชนเป็นผู้เพาะเลี้ยง ทั้งนี้เนื่องจากมูลความต้องการปลาน้ำจืดในตลาดในยุโรปและอเมริกามีมูลค่าสูงถึง 2แสนล้านบาท จากแนวคิดสู่โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ ทำให้ล่าสุดผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงินและรางวัล Special Award จาก สมาคมนักประดิษฐ์เกาหลี (KIA)ในงาน “Seoul International Invention Fair 2014” (SIIF 2014) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี