‘ซีอีโออินเดีย’ ครองเก้าอี้ยักษ์ไอที
ผลการศึกษาชี้ ผู้จัดการเชื้อสายอินเดียส่วนใหญ่ บุคลิกภาพมุ่งมั่นคิดไกล ขัดแย้งอยู่ในตัว
ข่าวร้อนแรงแวดวงไอทีรอบสัปดาห์นี้ หนึ่งในนั้นต้องยกให้การประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของบริษัทกูเกิลแตกบริษัทใหม่ชื่ออัลฟาเบตเพื่อปรับภาพลักษณ์การทำธุรกิจที่ชัดเจนให้กูเกิล พร้อมดันผู้บริหารหนุ่มนัยตาแขก “นายซันดาร์ พิชัย” วัย 43 ปีกุมบังเหียน “ซีอีโอ”
ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าบริษัทไอทีที่มีชื่อเสียงแถวหน้าของโลกจำนวนไม่น้อยเชื่อถือฝีมือการทำงานของคนเชื้อสายอินเดีย ถึงขั้นสนับสนุนเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทอีกราย
โดยเฉพาะบริษัทอเมริกันระดับโลกที่เอ่ยถึงเป็นต้องคุ้นหูกันดีในอุตสาหกรรมไอที ไม่ว่าจะเป็นนายสัตยา นาเดลล่า แห่งไมโครซอฟท์, นายราจีฟ ซูรี ซีอีโอโนเกีย, นายนิเกซ อโรร่า รองประธานบริษัทซอฟต์แบงค์ คอร์ป และซีอีโอ ของซอฟต์แบงค์ อินเทอร์เน็ต แอนด์ มีเดีย อิงค์, นายแซนเจย์ เมห์โรทรา ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธานและซีอีโอ บริษัทแซนดิสก์, นายแซนเจย์ จาห์ ซีอีโอบริษัทโกลบอลฟาวดรีย์สและนายชันทานู นาราเยน ซีอีโอบริษัทอะโดบี ซิสเต็มส์ ล้วนเป็นผู้นำที่มีเชื้อสาย หรือเกิดในอินเดียทั้งสิ้น
บอร์นทูบีไม่ใช่โชคช่วย
ซีอีโอ เชื้อสายตรงจากอินเดียทั้งหมดในบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น โดยผลการศึกษาทางด้านวัฒนธรรมข้ามชาติเมื่อเร็วๆ นี้ของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น นิว แฮมพ์ไชร์ ซึ่งได้สำรวจผู้บริหารระดับผู้จัดการที่มีเชื้อสายจากสหรัฐและอินเดีย พบว่า ผู้จัดการที่มีเชื้อสายอินเดียประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้จัดการเชื้อสายอเมริกัน
ผลการศึกษายังสำรวจพบว่า ผู้จัดการที่มีเชื้อสายอินเดียส่วนใหญ่มีบุคลิกภาพที่ีมีความมุ่งมั่นคิดการณ์ไกล และมีความขัดแย้งอยู่ในตัวเอง แต่เป็นความขัดแย้งที่ผสมสผานระหว่าง “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” และ “ความเป็นมืออาชีพที่เข้มข้น” ซึ่งผู้นำกลุ่มนี้มักทำงานได้ประสบความสำเร็จในขั้นสูง และสร้างสุดยอดองค์กรที่ดำเนินธุรกิจได้ค่อนข้างราบรื่น
เช่นกรณีของนายสัตยา นาเดลล่า วัย 47 ปี ซีอีโอเชื้อสายอินเดียที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำต่อจากผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับไอคอนของไมโครซอฟท์ทั้งบิล เกตส์ และสตีฟ บัลเมอร์ จากชื่อเสียงที่แทบจะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่นายนาเดลล่าก็พิสูจน์ฝีมือด้วยการทำงานในแบบที่ทำให้เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
ด้วยแนวคิดที่ทำให้เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน และเปลี่ยนวิธีคิดไม่มองสินค้าของคู่แข่งว่าเป็นเหมือนศัตรูฝ่ายตรงข้าม ซึ่งบางอย่างก็เป็นวิธีคิดที่ตรงกันข้ามกับผู้บริหารไมโครซอฟท์คนก่อนอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ ผู้จัดการเชื้อสายอินเดียจำนวนไม่น้อยยังมีบุคลิกภาพทีี่เคารพต่อบุคคลอื่น หรือผู้จัดการคนอื่นๆ ในองค์กรเดียวกันด้วย
แกะรอยเส้นทางสายซีอีโอ
นายพิชัย ซีอีโอคนล่าสุดของกูเกิลมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเชนไนทางตอนใต้ของอินเดีย สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีซึ่งเป็นที่เดียวกับนายอรัน ซาริน อดีตซีอีโอของโวดาโฟน กรุ๊ป โดยนายพิชัยเข้าร่วมงานกับกูเกิลปี 2547 ตำแหน่งรองประธานฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีบทบาทดูแลภาพรวมระบบค้นหาและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค เช่น ไอกูเกิล, กูเกิล ทูลบาร์, เดสก์ท็อป เสิร์ช และแกดเจ็ทต่างๆ ทั้งกูเกิล แพค และเกียร์
ก่อนที่ปี 2554 จะได้เลื่อนขั้นเป็นรองประธานอาวุโสของกูเกิล โครม และแอพส์ ที่ครอบคลุมทั้งโครม เบราเซอร์ และระบบปฏิบัติการ ตลอดจนบริการจีเมล, คาร์เลนเดอร์, กูเกิล ดอคส์ และกูเกิล ไดรฟ์ กระทั่งได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหาร หรือซีอีโอของกูเกิลในปัจจุบัน
ขณะที่ผู้บริิหารเชื้อสายอินเดียคนอื่นๆ ก็ล้วนแต่มีเส้นทางการทำงานที่ตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็น “นายแซนเจย์ เมห์โรทรา” วัย 57 ปี ที่นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแซนดิสก์ ที่กลายเป็นบริษัทใหญ่ด้านเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบแฟลชในปัจจุบัน
นายเมห์โรทรายังรับหน้าที่ที่มีบทบาทสูงในบริษัทอีกหลายตำแหน่ง ทั้งรองประธานคณะผู้บริหารและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ, รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรม, รองประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบเมโมรี่ และวิศวกรรมผลิตภัณฑ์พร้อมกับรับหน้าที่ซีอีโอมาตั้งแต่ปี 2554
นายราจีฟ ซูรี วิศวกรฝ่ายอิเล็กทรอนิกส์และเทเลคอม วัย 47 ปีลูกหม้อที่ทำงานกับโนเกียมา 2 ทศวรรษก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอของโนเกีย ดูแลแผนกโมบาย เน็ตเวิร์คมาตั้งแต่ปี 2552 และนายซูรียังเป็นผู้ที่ได้รับการเชื่อถือว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูธุรกิจโมบาย เน็ตเวิร์ค ของโนเกีย รวมถึงโนเกีย โซลูชั่นส์ และธุรกิจเน็ตเวิร์คให้กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง
นายชันทานู นาราเยน ซีอีโอบริษัทอะโดบี ซิสเต็มส์ วัย 53 ปี ผู้นำนัยตาแขกอีกคนที่เพื่อนร่วมงานมองว่าเป็นคนที่มีบุคลิกภาพเงียบขรึม แต่ความสามารถเหลือเชื่อ โดยนับตั้งแต่ขึ้นรับตำแหน่งซีอีโอของอะโดบีเมื่อปี 2550 นายนาราเยนนำองค์กรให้เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมาก
รวมถึงนายแซนเจย์ จาห์ ซีอีโอบริษัทโกลบอลฟาวดรีย์ส ผู้ผลิตชิพรายใหญ่ ก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานในบริษัทไอทียักษ์ใหญ่นานหลายปี ทั้งโมโตโรล่า โมบิลิตี้ และควอลคอมม์