‘ยักษ์โซเชียล’แห่รุกไทย ชิงตลาดออนไลน์แสนล.
ยักษ์เน็ต-โซเชียลแห่เปิดสำนักงานในไทย ชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินธุรกิจออนไลน์ “แสนล้าน” เผย เม็ดเงินสื่อออนไลน์ในไทย 50% ใช้กับสื่อโฆษณาออนไลน์ตปท.
หมายเหตุ : ที่มาภาพจากอินเทอร์เน็ต growingsocialmedia.com
นักวิเคราะห์ ประเมินยักษ์อินเทอร์เน็ต-โซเชียลต่างชาติแห่เปิดสำนักงานในไทย ชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินธุรกิจออนไลน์ “แสนล้าน” ชี้ต่อปีเม็ดเงินไหลออกต่างประเทศไม่ต่ำกว่า “6 หมื่นล้านบาท” แนะ “ภาครัฐ” ปรับตัว เสริมเขี้ยวเล็บผู้ประกอบการไทย จัดหาแหล่งเงินทุน เร่งพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจออนไลน์ให้คนไทยเข้าถึงง่าย
“ภาวุธ” เผย เม็ดเงินที่เทลงสื่อออนไลน์ 50% ใช้กับสื่อโฆษณาออนไลน์ต่างประเทศเป็นหลัก แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว เปลี่ยนบิสสิเนสโมเดลรับตลาดออนไลน์โลก สมาคมอีคอมเมิร์ซไทยเร่งหารือรัฐ ผู้ประกอบการหามาตรการหนุนผู้ประกอบการไทย
การเข้ามาเปิดสำนักงานสาขาในไทยของบริษัทอินเทอร์เน็ต-โซเชียลยักษ์ใหญ่ระดับโลกช่วงที่ผ่านมา อย่างรายล่าสุด คือ เฟซบุ๊ค ได้สร้างกระแสตื่นตัวให้ธุรกิจในไทย ซึ่งมีทั้งโอกาส ความท้าทาย รวมถึงจุดที่น่ากังวล โดยเฉพาะคนไทยที่แห่ใช้บริการจนติดอันดับโลกหลายๆ บริการ ส่งผลให้เม็ดเงินออนไลน์ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ปีนี้ ที่ประเมินว่าจะสูงถึงหมื่นล้านบาท
นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ด้านกลยุทธและอุตสาหกรรมไอซีที บริษัท เจ. เอ็ม. คาตาลิสท์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา ประเมินว่า ในแต่ละปีบริษัทอินเทอร์เน็ตและ โซเชียลยักษ์ใหญ่ ดึงเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์ออกไปจากประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่เม็ดเงินซื้อขายออนไลน์ในไทย (อีคอมเมิร์ซ) ขณะนี้ โดยภาพรวมอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท
เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ไหลออก
“เฉพาะเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ และจากบริการออนไลน์อื่นๆ ที่ไหลออกไปนอกประเทศน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี บริการของโซเชียลเน็ตเวิร์คแต่ละรายที่มีเม็ดเงินสะพัดในไทยไม่น้อย เช่น เกม การซื้อไอเท่ม การซื้อสินค้า หรือการซื้อสติ๊กเกอร์ ขณะที่มูลค่าซื้อขายอีคอมเมิร์ซในไทยตัวเลขขณะนี้อยู่ที่ราวๆ 8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีเม็ดเงินที่ต่างชาติได้ส่วนแบ่งไปมหาศาล”
นอกจากนี้ บางรายเข้ามาขายสินค้าในรูปแบบบีทูซี หรือขายโดยตรงให้คนไทย บริษัทเหล่านี้สามารถเข้ามาทุ่มตลาด ตัดราคาผู้ค้าไทยได้ด้วยเงินทุนที่หนา ระบบการตลาด การจัดการที่ได้มาตรฐานเป็นระดับโลก สิ่งที่ตามมา คือ บริษัทเหล่านี้จะรู้ข้อมูลพฤติกรรมของคนไทยได้มากกว่าหน่วยงานด้านพาณิชย์ของไทยรับรู้ เช่น รู้ว่า คนไทยมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าอย่างไรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตช่วงเวลาไหน สินค้าอะไรที่คนไทยนิยม หรือบริการแบบไหนที่คนไทยชอบ คีย์เวิร์ดอะไรไหนที่คนไทยใช้ ข้อมูลด้านสินค้าแบบไหนที่คนไทยกำลังค้นหา
ข้อมูลเหล่านี้เหล่านี้ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการทำตลาดไทยต่อไปในอนาคต ขณะที่ หน่วยงานด้านพาณิชย์ของไทยเองยังมีการจัดเก็บข้อมูลแบบเก่า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง โซเชียล หรืออินเทอร์เน็ตมีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลอยู่ตลอดเวลา
แนะมองข้อดีต่อยอดธุรกิจในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของบริษัทต่างชาติ ก็มีข้อดีเช่นกัน คือ เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในไทยต้องปรับตัว โดยอาจยึดบิสสิเนส โมเดลบริษัทเหล่านี้มาต่อยอด เป็นการจุดประกายให้สตาร์ทอัพไทย คล้ายๆ ใช้เป็นต้นแบบเพื่อต่อยอดธุรกิจ
“อีกข้อดี คือ ช่วยขยายตลาดออนไลน์ ช่องทางการค้าขายให้กลุ่มธุรกิจอย่างอีคอมเมิร์ซในไทย ได้มีช่องทางขายมากขึ้น ต้องยอมรับว่า ปกติแล้วธุรกิจด้านนี้ จะถูกขับเคลื่อนหลักด้วยเอกชน หรือตัวผู้ประกอบการเอง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พอ ไม่สามารถทำให้ตลาดโตได้ พอโซเซียลเหล่านี้เข้ามา ได้ช่วยขยายตลาด ทำให้ผู้ประกอบมีช่องทางขายเพิ่ม ขายผ่านเฟซบุ๊ค ผ่านอินสตาแกรม ไม่เฉพาะแค่ผู้ประกอบการรายย่อยๆ แต่รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากในไทย”
เขากล่าวว่า ช่วงแรกต้องยอมรับว่า คนไทยยังไม่ชอบขายของออนไลน์ แต่พอมีโซเชียลเหล่านี้ จะเห็นว่า ด้วยระบบ การบริหารจัดการ กระตุ้นให้คนไทยอยากขายของออนไลน์มากขึ้น เช่น ราคูเท็น อีคอมเมิร์ซ ญี่ปุ่นเข้าผนึกกำลังกับตลาดดอทคอม ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีช่องทาง
จี้ภาครัฐหนุนแหล่งเงินทุน-ปรับกม.
“มองในมุมบวก ถ้าต่างชาติไม่เข้ามา เราก็พัฒนาไม่ได้รวดเร็ว หลายอย่างเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในไทย เช่น ในวงการพัฒนาคอนเทนท์ จะเห็นคอนเทนท์ที่คนไทยทำเพิ่มขึ้นมาก เกิดวิดีโอ คลิปที่คนไทยผลิต เกิดสติกเกอร์ต่างๆ เหล่านี้ ช่วยสร้างงานให้ผู้ผลิตคอนเทนท์ในบ้านเราได้มาก ถือเป็นโอกาสที่เราเอามาต่อยอดได้”
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถตั้งตัวได้ มีการเติบโตที่แข่งขันได้ อาจมีการให้ฟันดิ้ง พัฒนากระบวนการต่างๆ เช่น ในด้านการซื้อขายออนไลน์ให้มีความง่าย กระตุ้นให้คนอยากใช้บริการของคนไทย
“เช่นเดียวกับข้อกฏหมายบางอย่าง ต้องปรับให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงของโซเชียล หรือไอที กฏหมายบางอย่างก็ไม่เอื้อผู้ประกอบไทยมากเท่าที่ควร รัฐต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้รัดกุม ขณะที่ผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งปรับตัวดึงข้อดี โอกาสของบริษัทต่างชาติเหล่านี้ มาต่อยอดให้ธุรกิจของตัวเอง” นายธีระ กล่าว
เม็ดเงินธุรกิจสื่อไหลออกนอกปท
ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า การปรับตัวของธุรกิจของไทยจะช้ากว่าที่ธุรกิจในต่างประเทศหากเป็นอย่างนี้ในต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้าธุรกิจหลายๆ อย่างของไทยจะไร้ที่ยืนในตลาดประเทศตัวเอง
เขากล่าวว่า ปัจจุบันการใช้เม็ดเงินจากสื่อโฆษณากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เงินจากสื่อออฟไลน์ อย่าง วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทีวี มีแนวโน้มตกลงอย่างต่อเนื่อง เพราะทั้งราคาที่แพง แต่ประสิทธิภาพไม่สามารถวัดผล และเข้าถึงกลุ่มหมายได้มีประสิทธิภาพ น้อยกว่าสื่อออนไลน์มาก ทำให้เงินจำนวนมากย้ายจากสื่อออฟไลน์มาออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงองค์กรขนาดเล็กเทงบประมาณการตลาดลงมาสื่อออนไลน์อย่างเต็มที่ ด้วยสาเหตุที่ราคาถูกกว่า, มีประสิทธิภาพมากกว่า, วัดผลได้แม่นยำกว่า และเข้าถึงคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว
"หากสังเกตดีๆ จะพบว่า เม็ดเงินที่กำลังถูกเทเข้ามายังสื่อออนไลน์ นั้นเกือบ 50% ถูกใช้ไปกับ สื่อโฆษณาออนไลน์ของต่างประเทศเป็นหลัก ได้แก่ กูเกิล, เฟซบุ๊ค, ยูทูบ, ไลน์ฯลฯ มากกว่าจะลงในสื่อโฆษณาของไทย ซึ่งมีแนวโน้มโตขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี นั้นหมายถึงเม็ดเงินที่ธุรกิจต่างๆ ของไทยจ่ายออกไปนั้น ถูกจ่ายออกไปยังต่างประเทศโดยตรงทันที (ถึงแม้จะจ่ายผ่านเอเจนซี่ก็ตาม) โดยที่ไทยแทบไม่ได้เงินภาษีจากเงินในส่วนนี้เลย นับเป็นเงิน“หลายพันล้านบาท
อีคอมเมิร์ซต่างชาติชิงส่วนแบ่ง
ขณะที่ ปัจจุบันจำนวนคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายคนหันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นธุรกิจต่างๆ ของไทยเริ่มบุกเข้ามาค้าขายในออนไลน์เพิ่มขณะเดียวกัน เว็บไซต์ต่างชาติก็เริ่มบุกเข้ามาค้าขายในไทยจากเดิมเว็บจากต่างชาติมักใช้ภาษาอังฤกษ หรือภาษาท้องถิ่น แต่ด้วยการต้องการขยายตลาดของเว็บไซต์ออนไลน์ต่างประเทศก็เริ่มแปลงร่างเพิ่มภาษาให้รองรับภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น
“แนวโน้ม ต่อไปจะมีเว็บไซต์สินค้าออนไลน์ต่างประเทศที่เริ่มมีภาษาไทย และขยายเข้ามายังคนไทยเพิ่มมากขี้น สินค้าจากต่างประเทศมากมายนับล้านๆ ชิ้นจะบุกเข้ามายังลูกค้าคนไทยผ่านออนไลน์ แน่นอนมันจะดึงเม็ดเงินจากธุรกิจและคนไทยออกไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำลังซื้อสินค้าจะไหลออกไปยังเว็บไซต์ต่างประเทศ เหล่านี้จะกระทบต่อธุรกิจไทยเต็มๆ อาจทำให้บางธุรกิจของไทยแทบไร้ที่ยืนทันที”
เขากล่าวด้วยว่า ในส่วนของสมาคมฯ นั้น ได้มีการพูดคุยในประเด็นดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงการเข้าไปคุยหน่วยงานในภาครัฐ ในการหามาตรการร่วมกัน ที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการในไทย สามารถพัฒนาตัวเองรวมถึงต่อยอดธุรกิจที่แข่งขันได้ทั้งในประเทศ และนอกประเทศ