ชี้ 'ฐาปน' ซื้อหุ้น 'อมรินทร์' ช่วยเสริมแกร่งธุรกิจ

ชี้ 'ฐาปน' ซื้อหุ้น 'อมรินทร์' ช่วยเสริมแกร่งธุรกิจ

"กสทช." ชี้ "ฐาปน" ซื้อหุ้น "อมรินทร์ฯ" ช่วยเสริมแกร่งธุรกิจ มองปชช.ได้ประโยชน์มากสุด ยืนยันพร้อมหาทางช่วยผู้ประกอบการที่ขาดทุน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า กรณีที่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี เข้าซื้อหุ้น บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ที่เป็นผู้ถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิตอลของ กสทช. ในช่องอมรินทร์ทีวีนั้น มองว่า การเปลี่ยนมือเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตยังเป็นบริษัท หรือ นิติบุคคลเดิมอยู่ เพียงแต่หลังจากนี้ทางอมรินรินทร์ทีวี ต้องมีการแจ้งมายังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ถึงการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ให้รับทราบตามกฎระเบียบ อย่างไรก็ตาม การที่ตัวผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิตอล มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม การที่อมรินทร์ได้ตระกูลสิริวัฒนภักดี มาเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทนั้น มองว่ากลุ่มนี้ค่อนข้างจะเป็นมืออาชีพ และมีความสามารถด้านคอนเทนท์ น่าจะเข้ามาช่วยยกระดับด้านเรตติ้ง และคอนเทนท์ในการนำเสนอผู้ชมได้ ซึ่งการที่ได้พันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือประชาชน ที่จะได้รับชมรายการดีๆ มากขึ้น 
 
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าการขายหุ้นครั้งนี้ เนื่องจากขาดทุนอย่างหนักจากการประกอบกิจการทีวีดิจิตอลนั้น ทาง กสทช. ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะช่วยเหลือในแง่มุมทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ โดยในการประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 14 ธันวาคม นี้ จะเสนอวาระ กสทช. อุดหนุนค่าเชื่อมต่อสัญญาณทีวีดิจิตอลขึ้นดาวเทียมแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนตัวกล่าว เป็นเวลา 3 ปี เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณให้ประชาชนสามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ผ่านทางทีวีดาวเทียม หรือเคเบิ้ลทีวี เพื่อขอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาอนุมัติ ภายหลังที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 11 พ.ย.59 ได้อนุมัติในหลักการแต่ให้กลับไปทบทวนจำนวนเงินช่วยเหลือใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการที่มีผู้ชำระเงินเพียงรายเดียวจะทำให้มีอำนาจการต่อรองมากกว่า จากที่ กสท. เสนองบช่วยเหลือมาทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากบอร์ด กสทช. อนุมัติก็สามารถดำเนินการได้ทันที และจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลได้