แอพฯส่องเบาหวานขึ้นตา รางวัลแกรนด์ไพรซ์เจนีวา
DeepEye แอพพลิเคชั่นตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นตา ช่วยให้เข้าถึงการแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา คว้ารางวัล Grand Prix จากเจนีวาครั้งแรกในรอบ 45 ปีของไทย พร้อมเดินหน้าเพิ่มความแม่นยำเป็น 99% ใน 6 เดือน เตรียมเสนอ สปสช. ต่อยอดใช้ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วไทย
โรคเบาหวานเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพราะจำนวนผู้ป่วยสูงกว่า 382 ล้านคน ซึ่ง 20% เสี่ยงเป็นเบาหวานขึ้นตา และเสี่ยงถึง 80% หากเป็นเบาหวานมากกว่า 15 ปี
ตัวช่วยจักษุแพทย์
“จักษุแพทย์นั้นมีน้อยและกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นตาทำได้ยาก เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์มักจะอยู่ในระยะที่รุนแรงแล้ว มีความเสี่ยงสูงมากที่จะตาบอด จึงอยากช่วยให้การตรวจคัดกรองทำได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดเป็นแอพพลิเคชั่น DeepEye” รศ.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
DeepEye พัฒนาโดยใช้วิธีการเรียนรู้เชิงลึกของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เก็บข้อมูลภาพถ่ายจอตา สร้างฐานข้อมูลการจำแนกโรค มาผสานกับการใช้กล้องถ่ายรูปจอประสาทตาแบบพกพา ราคาราว 3 แสนบาท แทนการใช้เครื่องตรวจจอตาของโรงพยาบาลที่มีราคาหลักล้าน
เมื่อมีการถ่ายภาพจอตาและอัพโหลดรูปเข้าไปในแอพพลิเคชั่น ระบบจะส่งข้อมูลไปที่เซิร์ฟเวอร์ โดยที่ปัญญาประดิษฐ์จะประมวลผลและแจ้งกลับมาแบบเรียลไทม์ โดยสามารถตรวจคัดกรองและจำแนกภาพถ่ายจอตาได้ 3 ประเภทใหญ่คือ ปกติ (Normal), มีเบาหวานขึ้นจอตา ( Diabeticretinopathy: DR) หรือเป็นโรคอื่น (Other Diseases) หากตรวจพบว่า เป็นเบาหวานขึ้นตาหรือ DR ก็สามารถระบุระดับความรุนแรงของโรคออกเป็น 4 ระดับไล่เรียงจากเล็กน้อยจนถึงรุนแรงมีเส้นเลือดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นระยะอันตรายที่เสี่ยงตาบอดได้มากที่สุด
ปัจจุบัน DeepEye มีความแม่นยำอยู่ที่ 95% จึงยังต้องเก็บข้อมูลภาพถ่ายจอตาให้มากขึ้น เพื่อให้ความแม่นยำอยู่ที่ 99% ซึ่งเป็นระดับที่มาตรฐานสากลยอมรับ โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือน
ทั้งนี้ การต่อยอดใช้งานเพื่อคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขึ้นตานั้น จะช่วยลดภาระทางสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลประชาชนที่เป็นในระดับรุนแรง ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดงานให้บุคลากรทางการแพทย์ ช่วยให้รับการตรวจคัดกรองได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยมีแผนจะเสนอไปที่ สปสช. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจคัดกรองทั่วไทย ผ่านโรงพยาบาลและโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ
นวัตกรรมสากลนิยม
DeepEye หรือ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นตาอย่างอัตโนมัติจากภาพถ่ายจอตาในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนนั้น ได้รับรางวัล Grand Prix ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดจากเวทีสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 45 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่ผลงานจากประเทศไทยได้รับรางวัลระดับสูงสุดของเวทีการประกวดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับนานาชาตินี้ ทั้งยังได้รับรางวัล Special Prize จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งรัสเซีย
“ผลงานของเราสามารถตอบโจทย์สากลได้ เพราะเบาหวานเป็นโรคที่มีความรุนแรง มีผู้ป่วยจำนวนมากและยังเพิ่มทุกปี นวัตกรรมของเรานั้นเป็นวิธีการตรวจคัดกรองที่ง่าย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์เฉพาะทาง ที่สำคัญ ข้อมูลจอประสาทตานั้นสามารถใช้ได้ทั่วโลก ไม่มีความแตกต่างเรื่องชาติพันธุ์แต่อย่างใด” รศ.จาตุรงค์ กล่าวและว่า ต่างประเทศได้พัฒนาอัลกอริธึมลักษณะคล้ายกันนี้แต่เป็นลักษณะโปรแกรมคอมพิวเตอร์
สำหรับแอพฯ DeepEye ได้รับความสนใจจากแพทย์สวิส ขณะที่กูเกิลก็สนใจเช่นกันเพราะมีงานด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์อยู่ ยังต้องหารือในรายละเอียดว่าจะต่อยอดอย่างไร แต่จะต้องเริ่มที่คนไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ก่อน