จีน-มจพ.จับมือผลิตวิศวกรรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง
มหาวิทยาลัยจงหนาน มหาวิทยาลัยแห่งชาติของจีน ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดหลักสูตรผลิตวิศวกรระบบราง เตรียมพร้อมบุคลากรรองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง
นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ นำคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยจงหนานหรือเซ็นทรัลเซาท์ (ซีเอสยู) ในมณฑลหูหนาน ประเทศจีน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เพื่อร่วมมือกันพัฒนากำลังคนป้อนอุตสาหกรรมระบบรางและการซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจงหนานสนใจที่จะร่วมมือทางวิชาการกับไทยทางด้านระบบรางและรถไฟความเร็วสูง จึงมองเห็นความพร้อมของ มจพ. ที่มีจุดแข็งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และมีห้องปฏิบัติการด้านระบบรางอยู่แล้ว จึงเป็นตัวกลางเชื่อม 2 มหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน
ศ.เฉิน ชุนหยาง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยจงหนาน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจงหนานเป็น 1 ในมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นเรื่องของรถไฟความเร็วสูง มีห้องปฏิบัติการระดับชาติด้านรถไฟความเร็วสูง ที่มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาในระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงการวิจัยเรื่องของความปลอดภัยสำหรับรถไฟความเร็วสูง บวกกับประสบการณ์ด้านนี้หลาย 10 ปี สามารถผลิตบุคลากรที่เกี่ยวกับด้านรถไฟความเร็วสูงและระบบรางในระดับปริญญาตรีปีละ 1,500 คน และปริญญาโทปีละ 500 คน มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาด้านนี้ทั้งหมดอีกราว 6,000 คน
"มหาวิทยาลัยจงหนานมีความตั้งใจที่จะเริ่มสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในด้านระบบรางและรถไฟความเร็วสูง และได้ศึกษาความเป็นไปได้ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถานรวมถึงประเทศไทย สุดท้ายแล้วจึงตัดสินใจเลือกไทยเป็นแห่งแรก เนื่องจากความสัมพันธ์สองประเทศที่ยาวนาน ประกอบกับไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีเส้นทางหลักของรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทางวิ่งผ่าน ทำให้มองว่า มีความเหมาะสมที่จะร่วมมือกัน" ศ.เฉิน กล่าว
ด้าน ศ.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะมุ่งเน้นผลิตช่างเทคนิค นักเทคโนโลยี และวิศวกรปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและซ่อมบำรุงอุตสาหกรรมระบบรางและรถไฟความเร็วสูง และความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการจัดทำหลักสูตรนานาชาติเฉพาะเรื่องระบบรางและรถไฟความเร็วสูง ในระดับปริญญาตรี แบบ 2+2 คือเรียนที่ไทย 2 ปี และจีนอีก 2 ปี พร้อมที่จะเปิดสอนภายในเดือนสิงหาคม 2561 คาดว่าปีแรกนี้จะผลิตบุคลากรได้ 200 คน