โรงงานผลิตพืช จุดเปลี่ยนเกษตรไทย

โรงงานผลิตพืช จุดเปลี่ยนเกษตรไทย

“โรงงานผลิตพืช” หนึ่งในคีย์เวิร์ดการพัฒนาเกษตรไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 เป็นแพลตฟอร์มต้นแบบที่ไบโอเทค นำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพรและผักผลไม้ราคาแพง

“โรงงานผลิตพืช” หนึ่งในคีย์เวิร์ดการพัฒนาเกษตรไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 เป็นแพลตฟอร์มต้นแบบที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพรและผักผลไม้ราคาแพง ตอบโจทย์การทำเกษตรแบบยั่งยืน หวังสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่กลับภูมิลำเนา


ญี่ปุ่นใช้งบลงทุนโรงงานผลิตพืชด้วยแอลอีดี 1.27 แสนบาทต่อตารางเมตร สร้างรายได้ปีละประมาณ 7.5 หมื่นบาทต่อตารางเมตร และคืนทุนได้ภายใน 2-3 ปี ขณะที่หลายประเทศมุ่งเป้าพัฒนาโรงงานผลิตพืชด้วยแอลอีดี เพื่อใช้ในการผลิตสารสำคัญทางชีวภาพจากพืชเชิงการค้า เช่น ญี่ปุ่นมี 200 แห่ง ไต้หวัน 100 แห่ง จีน 50 แห่ง สหรัฐอเมริกา 25 แห่ง เกาหลี 10 แห่งและสิงคโปร์ 2 แห่ง
นอกจากยังมีแนวคิดในการพัฒนาโรงงานผลิตพืช เพื่อใช้ผลิตพืชในสภาวะแวดล้อมที่ขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต เช่น ในทะเลทรายหรือในอวกาศ เป็นต้น


เป้าหมายสมุนไพรมูลค่าสูง


โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) เป็นเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิด ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เทคโนโลยีดังกล่าวพัฒนาจากองค์ความรู้แขนงต่างๆ ทั้งด้านสรีรวิทยาพืช การเกษตร วิศวกรรมรวมถึงการจัดการเทคโนโลยี จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้คือ สามารถผลิตพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงทั้งด้านอัตราการผลิต (ผลผลิตต่อพื้นที่ต่อเวลา) และการใช้ทรัพยากรในการผลิต อีกทั้งสามารถเพิ่มคุณภาพ/สารสำคัญของพืชเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต


"เราสามารถเพิ่มวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดที่ใช้เป็นยารักษาโรค รวมถึงคุณสมบัติทางกายภาพอื่นๆ เช่น ผิวสัมผัส รสชาติ และอายุหลังการเก็บเกี่ยว ให้ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ เพราะลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งลดการใช้ทรัพยากรน้ำและธาตุอาหาร” เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพืช ไบโอเทค อธิบายจุดเด่นของ โรงงานผลิตพืช

ปัจจุบันหลายประเทศกำลังให้ความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช และนำไปใช้ผลิตพืชคุณภาพสูงเชิงการค้าได้เป็นผลสำเร็จแล้ว โดยเฉพาะญี่ปุ่น ไบโอเทคจึงเชิญ โตโยกิ โคไซ ศาสตราจารย์ด้านโรงงานผลิตพืชจากมหาวิทยาลัยชิบะ มาถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้แก่นักวิจัย นักวิชาการ เกษตรกรสมัยใหม่และผู้ที่สนใจ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการผลิตพืชมูลค่าสูง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน


ดึงคนรุ่นใหม่เป็นเกษตรกร


เฉลิมพล กล่าวต่อว่า ญี่ปุ่นได้พัฒนาเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี สามารถปลูกพืชได้มากกว่า 10 ชั้น ขึ้นกับชนิดของพืช จึงเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เหมาะสำหรับการเกษตรพื้นที่จำกัด ส่วนการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ประเทศไทยน่าจะเหมาะกับการปลูกพืชมูลค่าสูงในกลุ่มสมุนไพรเพื่อควบคุมปัจจัยหลัก เช่น ความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ใช้ในการเจริญเติบโต โดยใช้หลอดไฟแอลอีดีเป็นแหล่งกำเนิดของแสง ซึ่งจะทำให้ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนการจัดการความร้อน มีกระบวนการผลิตที่แม่นยำสูง ผลผลิตที่ได้ปราศจากการปนเปื้อน


ยกตัวอย่าง สมุนไพรบางตัวจะผลิตสารสำคัญทางยาอย่างน้ำมันหอมระเหย แคโรทีนอยด์ หรือ แอนโทไซยานิน ออกมาในเวลาพืชเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อม หรือสามารถใช้ชนิดสีของแสงแอลอีดีเป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโต เช่น ใช้แสงสีน้ำเงินเพื่อเร่งการเจริญเติบโตช่วงใบ หรือใช้แสงสีแดงช่วงเร่งการดอก เป็นต้น คาดว่าภายในปีนี้จะมีการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมในบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย เพื่อนำสารสกัดที่ได้จากสมุนไพรไปเป็นส่วนประกอบสร้างจุดขายใหม่ อาทิ สารสกัดจากใบบัวบกที่มีส่วนประกอบคอลาเจน ที่นำไปเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว


“หากระบบผ่านการพัฒนาให้เหมาะสมกับประเทศไทย จะทำให้ได้ผลผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารปนเปื้อนและมีระยะการเก็บเกี่ยวที่สั้นลง รายได้จากผลผลิตสูงขึ้น จะเป็นการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเกษตร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ และกลับไปพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดทำให้รากฐานของประเทศแข็งแรง” เฉลิมพล กล่าว