เคทิส-ปตท.ลงทุนไบโออีโคโนมี4หมื่นล.

เคทิส-ปตท.ลงทุนไบโออีโคโนมี4หมื่นล.

รมว.วิทยาศาสตร์ชง ครม.สัญจรที่นครสวรรค์ หนุนไบโออีโคโนมีจากอ้อย ด้านเคทิสผนึก ปตท.ลงทุน 4 หมื่นล้านบาทสร้างธุรกิจนวัตกรรมจากบายโปรดักส์น้ำตาล

รมว.วิทยาศาสตร์ชง ครม.สัญจรที่นครสวรรค์ พิจารณาสนับสนุนไบโออีโคโนมี มุ่งใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากอ้อยได้คุ้มค่าที่สุดโดยไม่มีของเสีย ด้านเคทิสผนึก ปตท.ลงทุน 4 หมื่นล้านบาทสร้างธุรกิจนวัตกรรมจากบายโปรดักส์น้ำตาล

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.นครสวรรค์ ในการพิจารณาสนับสนุน โครงการเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ซึ่งเป็นการถอดรหัสการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากอ้อยได้คุ้มค่าที่สุดจนไม่มีของเสีย หรือซีโร่เวสต์

ทุกอย่างสามารถสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องไบโอพลาสติก แต่ยังติดปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง 30-40% จึงต้องศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการใช้ไบโอพลาสติกมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขยะ

ทั้งนี้ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หน่วยงานในสังกัด ได้ดำเนินโครงการ“การใช้งานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมท้องถิ่นและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” และ “การประยุกต์ใช้งานวิจัยเพื่อการผลิตและลดต้นทุน” โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) พัฒนากระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

รวมทั้งโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพื่อลดต้นทุนการปลูกอ้อย ในพื้นที่เขตส่งเสริมอ้อยกว่า 5 แสนไร่ ของ บริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS

ถือเป็นต้นแบบการนำผลงานวิจัยมาใช้ได้จริงอย่างต่อเนื่องในทุกมิติของการผลิตอ้อย เช่น การปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และการลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน และได้ปริมาณผลผลิตที่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่าง การนำเชื้อจุลินทรีย์มาร่นระยะเวลาการย่อยสลายของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ลงเหลือ 1 เดือนจากปกติ 3 เดือน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้สามารถใช้เพื่อการปรับปรุงดินและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยและพืชอื่นๆ และสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างยั่งยืน

การพัฒนาสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของอ้อย และเพิ่มระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลด 30 % กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรที่เป็นชาวไร่คู่สัญญาในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ และชัยนาท ที่มีประมาณ 1 หมื่นราย เนื้อที่กว่า 5 แสนไร่

นายอภิชาติ นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ KTIS กล่าวว่า นอกจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว ยังมองเห็นโอกาสจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจรทั้งธุรกิจเอทานอล เยื่อกระดาษฟอกขาว ปุ๋ยอินทรีย์จากกากตะกอนหม้อกรอง (ผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย) และน้ำกากส่า (ผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอล) การผลิตไบโอแก๊สจากน้ำกากส่าและการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย โดยส่วนหนึ่งร่วมกับ วว. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากน้ำตาลในโครงการสเปียร์เฮด

อีกทั้งจะลงทุน 4 หมื่นล้านบาทกับบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอลจำกัด (มหาชน) หรือ จีจีซี ในเครือ ปตท. เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง เคมีชีวภัณฑ์และไบโอพลาสติก โดยจะลงทุนเฟสแรกสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับไบโออีโคโนมีในอาเชียนภายใน 10 ปี