เปิดสถิติ 6 สายงานขาดตลาด 10 อาชีพเนื้อหอมสุดระดับโลก

เปิดสถิติ 6 สายงานขาดตลาด 10 อาชีพเนื้อหอมสุดระดับโลก

เร่งพัฒนาทักษะ-สร้างโอกาส เปิดสถิติ 6 สายงานขาดตลาด 10 อาชีพเนื้อหอมสุดระดับโลก

จากสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจ  การขาดแคลนแรงงานผู้มีความสามารถในปัจจุบันถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากพูดถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานในปัจจุบัน  ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร  โดยเฉพาะทีมีทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน  นับเป็นกลุ่มแรงงานสำคัญที่จะขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  จากผลสำรวจและสถิติของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ชี้ถึงตลาดแรงงานที่มีทักษะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม  จากภาพรวมประเทศไทยในช่วงตลอด  5  ปีรวมถึงปีนี้  ประเทศไทยในประเทศที่กำลังพัฒนาและอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตัลอยู่ในภาวะความต้องการแรงงานที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับสภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับโลกซึ่งมี  6  สายงานสำคัญ  ได้แก่   สายงานด้านขาย  ด้านไอที  ด้านวิศวกร งานธุรการ งานด้านบัญชีและงานการผลิต

5_9

สำหรับสายงานแรก คือ สายงานขายซึ่งมีความต้องการขึ้นอันดับ 1 ต่อเนื่อง 3 ปี  ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558, 2559 และปี 2560  ทั้งในระดับB2B, B2C  รวมถึงรูปแบบคอลเซ็นเตอร์  ทำให้เกิดความต้องการอาชีพด้านการขาย งานพัฒนาธุรกิจ งานวิเคราะห์ธุรกิจ และงานขายเชิงเทคนิค เช่น วิศวกรขาย, พนักงานขายยา เป็นจำนวนมาก  แต่ขณะเดียวกันอัตราการหมุนเวียนเข้าออก (Turn over) ก็สูงมากเช่นเดียวกัน  เนื่องจากแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้อาชีพด้านการขายเปรียบเสมือนหัวใจหลักในการทำธุรกิจที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านผลประกอบการและยอดขาย

ส่วนอีกหนึ่งสายงานที่มีความต้องการสูงและมาแรงในช่วง 5 ปีนี้ คือ สายงานไอที  เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจและการทำงานในยุคดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้นสายงาน IT  (Information Technology)  จึงมีความต้องการสูงขึ้นทุกในแต่ละปี   เพราะเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญของทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมในการส่งเสริมและสร้างความได้เปรียบในการการแข่งขัน  ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมาเป็นผู้ควบคุมดูแล  แนวโน้มความต้องการแรงงานสาย IT  ที่มีความต้องการเพื่อรองรับกับเทรนด์ในปีนี้  อาทิเช่น  เทคโนโลยี Artificial Intelligent (AI),  FinTech / Digital Payment-Banking, Internet of Things (IoT & IIoT), Cloud Computing, Big Data, Block Chain,      AR-VR Tech และ Cyber Security  ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทมากในปัจจุบันสู่อนาคตอันใกล้

นอกจากนี้สายงานที่สาม คือ สายงานวิศวกร  ก็มีความต้องการสูงเช่นกันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา  ถึงแม้ว่าความต้องการบุคลากรในสายนี้จะมีสูง  แต่การสรรหาบุคลากรที่มีความเหมาะสมตามคุณสมบัติที่ตลาดต้องการเป็นนับเป็นเรื่องยากและยังคงขาดแคลน  เนื่องจากนายจ้างต้องการแรงงานที่มีทักษะเชิงลึกและทักษะรอบด้านประกอบกัน  รวมถึงยังพิจารณาจากประสบการณ์ในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ  เนื่องจากในกลุ่มวิศวกรบางสายงานต้องใช้องค์ความรู้ความชำนาญ  ตัวอย่างเช่น กลุ่มวิศวกรโยธา, วิศวกรเครื่องกล, Rail Transportation Engineer (วิศกรขนส่งทางราง) และ Signaling Engineer (วิศวกรในการวางระบบสัญญาณการเดินรถไฟและควบคุมระบบสัญญาณต่างๆ) เป็นต้น   ทั้งนี้ ยิ่งภาครัฐลงทุนและสร้างระบบโทรคมนาคมขนส่งครอบคลุมทั้งระบบและเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในเส้นทางใหม่ๆความต้องการด้านวิศวกรกลุ่มนี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทางด้านสายงานวิศวกรกลุ่มงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น  Pipeline Engineer ด้านพลังงานกลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ  รวมถึงงานเหมืองแร่ที่ขาดแคลนทำให้ต้องใช้บุคลากรจากต่างประเทศมาทำงาน

4_14

ส่วนอีกหนึ่งสายงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือตั้งแต่แรงงานประเภทกึ่งทักษะจนถึงทักษะฝีมือในสายงานฝ่ายผลิต งานช่างเทคนิค  รวมถึงกลุ่มงานช่างประเภทต่างๆ อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างกล ความต้องการแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรงงานที่จบทางด้านสายวิชาชีพ  ปัจจุบันภาครัฐให้การส่งเสริมและสนับสนุนในส่วนของอาชีวะควบคู่กับการทำงานตามสถานประกอบการต่างๆ ในรูปแบบทวิภาคีเพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน  ซึ่งในกลุ่มงานดังกล่าวบุคลกรอาจจะไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีเสมอไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องจะทำให้มีความได้เปรียบในสายงานเฉพาะทางได้ 

สายงานที่ห้า คือ  สายงานในกลุ่มบัญชีและการเงินมีความต้องการสูงทุกธุรกิจและทุกระดับ  อีกทั้งยังมีความต้องการบุคลากรอย่างต่อเนื่องทั้งส่วนงานภาครัฐและเอกชน  นายจ้างต้องการบุคลากรที่มีความรู้ด้านปฏิบัติการและมีความเข้าใจในธุรกิจที่ทำ โดยจะต้องสามารถวิเคราะห์ วางแผนและบริหารเงินลงทุน  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  นอกจากนี้ยังต้องมีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญในการใช้งานระบบโปรแกรมต่างๆ  อาทิเช่น  SAP, ERP, Oracle หรือ JD Adwards หรือแม้แต่กระทั่งงานด้านภาษีที่ต้องวิเคราะห์ภาษีที่เป็นส่วนหนึ่งของการได้กำไรหรือขาดทุนอันจะต้องการผู้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษี (Tax Specialist)  ที่มี Certificate Public Account (CPA) รับรอง  ซึ่งการมีทักษะความรู้ในส่วนนี้จะส่งผลให้แรงงานมีเงินเดือนที่สูงขึ้นด้วย

3_16

จากผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าในช่วงครึ่งปีแรกปี 2561 ความต้องการแรงงานของสายงานบริการลูกค้าสูงเป็นอันดับแรก  อาทิ พนักงานประจำร้านค้า พนักงานบริการลูกค้า พนักงานบริการลูกค้าทางโทรศัพท์  ตอบรับกระแสธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป  ได้ทำการสำรวจจากนายจ้าง 39,195 รายใน 43 ประเทศทั่วโลก ในปี 2561 ระบุว่านายจ้าง 45% ไม่สามารถหาแรงงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการได้  จากผลสำรวจพบว่าองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานตั้งแต่ 250 คนขึ้นไป  มีถึง 67% พบปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้มีความสามารถในทุกวงการ(ภาพประกอบ A1)  ความยากลำบากในการสรรหาบุคลากรในปัจจุบันคือการหาคนที่มีทักษะทางด้านเทคนิคและทักษะด้านอารมณ์ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว  การเพิ่มทักษะของบุคลากรและการบริหารจัดการผู้มีความสามารถเป็นงานที่ท้าทายยิ่งขององค์กรยุคใหม่ 

จากผลการศึกษาและสำรวจในครั้งเห็นถึงสถานการณ์การขาดแคลนผู้มีทักษะความสามารถพุ่งสูงสุดในรอบ 12 ปี (ภาพประกอบ A2) โดยแมนพาวเวอร์กรุ๊ปเริ่มสำรวจและเก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบัน  ซึ่งในปี 2561 พบว่า นายจ้างญี่ปุ่นมีถึง 89%  โรมาเนีย 81% และไต้หวัน78% เผชิญความยากลำบากในการจ้างงานมากที่สุด 3 อันดับแรก  ส่วนนายจ้างของ  สหราชอาณาจักร 19%  ไอร์แลนด์ 18% และจีน 13% มีความยากลำบากดังกล่าวน้อยที่สุด(ภาพประกอบ A3)   ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งพบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากสุด เนื่องจากมีกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ และข้อจำกัดในการเข้าเมืองส่งผลให้มีปัญหารุนแรงขึ้น ทางด้านโรมาเนียและไต้หวัน มีการส่งงานให้บริษัทในต่างประเทศทั้งใกล้และไกลมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้  ผลลัพธ์ที่เกิดคือ นายจ้างไม่สามารถหาคนมาทำงานในตำแหน่งที่ว่างอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตและประสิทธิภาพในการทำงานของบริษัท

  1_15

10 อาชีพเนื้อหอมสุดระดับโลก

สำหรับ 10 อาชีพที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลก (ภาพประกอบ A4) ด้วยวิวัฒนาการที่มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาทำงานช่วยมนุษย์ และบางส่วนก็แทนมนุษย์ส่งผลให้บทบาทแรงงานที่องค์กรต้องการนั้นจะต้องมีองค์ความรู้  ทักษะสูง เพื่อบริหารและควบคุมการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ  ประกอบด้วย ช่างไฟฟ้า ช่างกล  พนักงานขาย วิศวกร ทั้งเครื่องกล ไฟฟ้าและโยธา  ด้านโลจิสติกส์การขนส่งต่างๆ รวมถึงกลุ่มช่างเทคนิค  ไอที  งานธุรการ ประชาสัมพันธ์  ด้านบัญชีการเงิน ด้านการผลิต และกลุ่มเชี่ยวชาญในวิชาชีพ  ในวันนี้แรงงาน 10กลุ่มที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละด้านที่กล่าวมา  ต้องมีกระบวนการเรียนรู้และอาศัยการฝึกฝนทักษะหลังระดับมัธยมศึกษาเพื่อเข้าสู่การเรียนในสายอาชีพ  ซึ่งการจ้างงานยุคดิจิตัลไม่จำเป็นต้องมีใบปริญญาเสมอไป  แต่ต้องมีการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในงานทำงานในแบบดั้งเดิมและผสมผสานด้วยเทคโนโลยีใหม่

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่นายจ้างหาแรงงานที่มีทักษะตามที่ต้องการไม่ได้  พบว่า  การขาดผู้สมัครงาน ประสบการณ์และทักษะ เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดการขาดแคลนผู้มีความสามารถ เกือบหนึ่งในสามของนายจ้างกล่าวว่าสาเหตุหลักที่พวกเขาไม่สามารถหาคนงานได้ก็คือการขาดผู้สมัคร ส่วนอีก 20% บอกว่าผู้สมัครไม่มีประสบการณ์ที่จำเป็น ในขณะที่มีนายจ้าง 27% ระบุว่าการขาดแคลนผู้มีความสามารถของตนมีสาเหตุมาจากการที่ผู้สมัครขาดทักษะด้านความรู้หรือทักษะด้านอารมณ์ นายจ้างเกินครึ่งลงทุนในแพลตฟอร์มการเรียนรู้และเครื่องมือพัฒนาเพื่อสร้างคนเก่งของตนเอง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 20%  ในปี พ.ศ. 2559  หลายองค์กรตระหนักว่าการผสมผสานระหว่างทักษะด้านอารมณ์และทักษะด้านความรู้เป็นส่วนผสมที่ดีที่สุด  นายจ้าง 64% กำลังพัฒนาทักษะด้านความรู้ของพนักงาน เช่น การรับรองความรู้ทางเทคนิค การฝึกงาน และหลักสูตรโปรแกรมมิง ส่วนอีก 56% กำลังพัฒนาทักษะด้านอารมณ์ เช่น การบริการลูกค้า การขาย และการสื่อสาร 

2_22

ยุทธศาสตร์ที่นายจ้างใช้เพื่อเอาชนะการขาดแคลนผู้มีทักษะความสามารถ กลายเป็นประเด็นที่หลายบริษัทกำลังพยายามที่จะมีคนเก่งในจำนวนมากที่สุดและดึงดูดให้คนเข้ามาทำงานด้วยมากขึ้น พบว่า การจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานยิ่งขึ้น  และยังมีการปรับข้อกำหนดด้านวุฒิการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน  บริษัทมากกว่าหนึ่งในสาม(36%)  กำลังปรับเปลี่ยนการศึกษาและประสบการณ์ที่จำเป็นในการเข้ารับตำแหน่ง  อีกทั้งยังพบว่าบริษัท 33%  กำลังมองหากลุ่มประชากร ช่วงอายุหรืออื่นๆ โดยใช้สื่อออนไลน์ เพื่อติดต่อกับบุคคลที่อาจจะเป็นพนักงานของบริษัทในอนาคตหรือมองหากลุ่มผู้เกษียณอายุ ผู้ปกครองที่กลับมาทำงาน และคนทำงานไม่เต็มเวลา ราว 32% มีการเสนอสวัสดิการและผลประโยชน์เพิ่มเติม เช่น การเพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปีและสิ่งจูงใจอื่นๆ ให้คนทำงานและส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัท  มีการเสนอการทำงานที่ยืดหยุ่นหรือการทำงานทางไกล   ปีนี้มีนายจ้างราว 29% กำลังพิจารณาเพิ่มเงินเดือน คิดเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 3%  และเมื่อเทียบกับปีก่อนการจัดจ้างบริษัทอื่นหรือประเทศอื่นเป็นสิ่งที่นายจ้าง 16% กำลังพิจารณาจะนำมาใช้เนื่องจากไม่สามารถหาผู้มีความสามารถตามที่ต้องการได้ 

ทั้งนี้ผลการศึกษาและวิจัยมีข้อเสนอแนะแนวทางการการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะความสามารถที่จะเป็นทางออกด้วย 4 แนวทาง (ภาพประกอบ A5) คือ  1."สร้าง"  เป็นการลงทุนในการเรียนรู้และการพัฒนาเพื่อสร้างผู้มีความสามารถขององค์กรเอง  การวิเคราะห์คน การประเมินทางจิตวิทยา ความสามารถในการคาดการณ์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ดียิ่งขึ้นย่อมหมายความว่านายจ้างจะสามารถวางแผนและเพิ่มทักษะแรงงานที่มีอยู่แล้วและที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตได้  2. "ซื้อ"  หากการหาผู้มีความสามารถที่สุดที่ไม่สามารถสร้างเองได้ในองค์กรภายในกรอบเวลาที่ต้องการ ในตลาดแรงงานที่ตึงตัว นายจ้างต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจูงใจคนงานด้วยการนำเสนอคุณค่าที่ดีของพนักงาน วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและวัฒนธรรมที่น่าดึงดูด มิฉะนั้น นายจ้างต้องเตรียมตัวจ่ายค่าตอบแทน ค่าจ้างและผลประโยชน์อื่น ๆ ในระดับสูง 3. "ยืม"– การบ่มเพาะชุมชนคนเก่งนอกองค์กร ซึ่งประกอบด้วยคนงานนอกเวลา คนที่ทำงานอิสระ คนงานตามสัญญา และคนงานชั่วคราว  ที่ผ่านมา ฝ่ายบุคคลมักจะมุ่งเน้นที่ลูกจ้างประจำภายในบริษัท แต่เมื่อคุณจำเป็นต้องเสริมทักษะที่มีอยู่เดิม  เติมช่องว่างสำหรับโครงการระยะสั้น หรือหาคนที่มีความชำนาญเฉพาะด้านที่คุณไม่มีภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยืมคนเก่ง ซึ่งรวมถึงคนงานตามสัญญาหรือคนงานชั่วคราว คนทำงานที่มีทักษะสูงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เลือกที่จะทำเช่นนี้ คนงานประมาณ 87% เปิดรับงานสำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานนอกเวลา งานเฉพาะกิจ งานตามสัญญา งานอิสระและงานชั่วคราว องค์กรต้องเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะชุมชนคนทำงานภายในและภายนอกบริษัท นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาทางออกในการบริการจัดการคนเก่งอย่างเบ็ดเสร็จ คิดอย่างเป็นระบบ เป็นนักการตลาดที่ดี และใช้คนเก่งอย่างเหมาะสม  4. "เป็นสะพาน" – ช่วยให้คนก้าวไปข้างหน้าและก้าวขึ้นสู่บทบาทใหม่ภายในและภายนอกองค์กร  การเปลี่ยนแปลง การใช้ระบบดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ ทำให้เกิดการปฏิวัติด้านทักษะ ซึ่งทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้นเร็วพอๆ กับที่ทักษะอื่นกลายเป็นทักษะที่ล้าสมัย ผู้นำมีหน้าที่สำคัญในการใช้ทักษะที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และค้นหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อให้คนที่มีทักษะที่ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไปสามารถเปลี่ยนไปทำหน้าที่ใหม่ได้ หากเป็นไปไม่ได้ที่จะสับเปลี่ยนให้คนไปทำหน้าที่ใหม่ในองค์กร นายจ้างจำเป็นต้องปฏิบัติต่อคนด้วยความเคารพและให้เกียรติ และช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น และสามารถใช้ทักษะของพวกเขากับบทบาทหน้าที่ใหม่นอกบริษัท

ทั้งนี้  จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถทั้งของไทยและประเทศอื่น ๆ นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือทั้งนายจ้างและแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญในยุคดิจิตัลนี้  การพัฒนาและผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างคน ทักษะ กระบวนการและเทคโนโลยี  ควรจะเป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วนในการปฏิรูปทักษะเพื่อการทำงานที่มั่นคงของแรงงานและเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป