เครื่องลงคะแนนเสียง ระวังจะถูกขโมยคะแนน
ดร.อดิสร นักเทคโนโลยีจากเนคเทค เตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ด้วยการตั้งข้อสังเกตให้กับเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ว่า ระบบอาจจะถูกแฮก คะแนนเสียงอาจจะหาย พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลน่าสนใจในบทความล่าสุดในนิตยสาร MIT Technology Review
เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันถูกนำมาใช้งานในหลายประเทศ เช่น อินเดีย บราซิล ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ควบคู่กับเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการเลือกตั้งทำให้กระบวนการในการจัดการ ประหยัดทรัพยากร เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบการทุจริตได้ทุกขั้นตอน
...ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือ แถมประเทศไทยก็มีแนวความคิดจะนำเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเลือกตั้งในครั้งหน้าที่จะถึงเร็วๆนี้ โดยได้มีการทดลองใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ 2545 พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้พัฒนาเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว โดยร่วมกับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย
ถึงแม้เมื่อเรากดลงคะแนนเสียงเสร็จ จะมีใบบันทึกหมายเลขหรือสลิปออกจากตัวเครื่องลงคะแนน เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเกิดความมั่นใจว่าตนได้กดหมายเลขถูกต้องและเครื่องได้รับบันทึกหมายเลขนั้นจริง แต่หลายคนยังมีข้อกังขาและสงสัยว่า จะถูกขโมยคะแนนเสียงได้หรือไม่ มีการทดสอบระบบป้องกันการ Hack อย่างจริงจังหรือไม่
นับเป็นความบังเอิญที่เรื่องความน่าเชื่อถือของระบบลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์เป็นข่าวโด่งดังในสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา โดยบทความล่าสุดในนิตยสาร MIT Technology Review ได้เปิดเผยถึง ความเป็นไปได้ในการแฮกข้อมูลเพื่อให้ผลการเลือกตั้งเป็นไปได้อย่างที่ออกแบบไว้ ศาสตราจารย์ J. Alex Halderman อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ออกมาเปิดเผยวิธีการโกงคะแนนการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดายในงานประชุมวิชาการ EmTech MIT 2018 เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงห่างจากผู้สมัครคู่แข่งเพียง 107,000 คะแนน ใน 3 รัฐรวมกัน ทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกกลับมาให้โดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้ชนะ ซึ่งก็ยังมีปัญหาถกเถียงกันไม่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะใช้เครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่ยอมรับว่ามีความทันสมัยอย่าง AccuVote TSX ของบริษัท Diebold บริษัทผู้ผลิตตู้เอทีเอ็มที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ถึงแม้เครื่องนี้จะถูกออกแบบมาให้เจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรที่ใช้เมมโมรี่การ์ด และระบบป้องกันความปลอดภัยข้อมูลอื่นๆ แต่ก็ยังถูกโกงคะแนนการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดาย ล่าสุดเด็กอเมริกันเพียง 11 ขวบ ก็สามารถแฮกระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงผลการนับคะแนนเสียงได้ภายในเวลาเพียง 10 นาทีในงานประชุม DEF CON ซึ่งเป็นงานรวมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ใหญ่ประจำปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ Halderman ให้คนแอบลงซอฟต์แวร์โกงคะแนนที่ออกแบบไว้พิเศษเพื่อไปจัดการคะแนนโหวตตามที่เราต้องการก่อนที่เครื่องจะถูกนำไปใช้
ที่ผ่านมา การป้องกันการแฮกข้อมูลมีเพียงแต่การป้องกันการโจรกรรม และแฮกข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งถูกป้องกันไว้อย่างดีโดยระบบการออกเสียงเลือกตั้งด้วยอิเล็กทรอนิกส์ แต่ช่องโหว่ที่ตัวเครื่องดังที่กล่าวมานี้ ทำให้การขโมยคะแนนเสียงเลือกตั้งทำได้อย่างง่ายดายกว่าการเข้าไปแฮกระบบเสียอีก
ศาสตราจารย์ Ron Rivest แห่งมหาวิทยาลัยเอ็มไอที ได้ออกมาให้ความเห็นว่า อย่างไรก็ตามวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การใช้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบเดิมควบคู่ไปกับเครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบคะแนนได้อย่างแม่นยำและน่าเชื่อถือมากขึ้น และมีหลักฐาน ซึ่งก็จะทำให้เราต้องสิ้นเปลืองมากยิ่งขึ้นไปอีก ในเมื่อเป็นข่าวดังใหญ่โตขนาดนี้ในประเทศที่มีเทคโนโลยีทันสมัยกว่าบ้านเราขนาดนี้ แล้ว กกต. บ้านเรา จะให้ความมั่นใจแก่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้อย่างไรว่า จะไม่ถูกโกงคะแนน เป็นการบ้านที่ กกต. จะต้องออกมาแสดงให้สาธารณชนได้เห็นว่า ระบบที่จะนำมาใช้ มีความน่าเชื่อถือจริง ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้
*บทความโดย ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, เมธีวิจัยอาวุโส สกว.