10 เทรนด์อุตสาหกรรมอาหาร 2018
ธรรมเนียมปฏิบัติทุกปีของงาน Fi Asia กับการรายงานผลสำรวจของ Innova Market Insights อัพเดตเทรนด์ผลิตภัณฑ์อาหาร ตั้งแต่ความต้องการบริโภคสิ่งที่ดีต่อสุขภาพทำให้ผู้ผลิตถอยห่างจากการใช้สีและสารปรุงแต่ง ล่าสุดกับเทรนด์อาหารที่ผลิตโดยคำนึงถึงความยั่งยืน
บริษัทวิจัยการตลาดเปิดผลสำรวจ 10 เทรนด์ที่ส่งผลต่อตลาดอาหารและเครื่องดื่มในปี 2561 อ้างอิงจากสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและอิทธิพลสื่อสังคมออนไลน์ หวังเป็นไกด์ไลน์ให้ผู้ประกอบการเตรียมวางแผนรับมือล่วงหน้า อาทิ สีสันอาหารพร้อมถ่ายลงอินสตาแกรม อาหารที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเลือกซื้อ อาหารทะเลขึ้นเชลฟ์เบียดเนื้อแดง
ธรรมเนียมปฏิบัติทุกปีของงานแสดงเทคโนโลยีส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มในเอเชียหรือ Fi Asia จัดโดย “ยูบีเอ็มเอเชีย” กับการรายงานผลสำรวจของ Innova Market Insights บริษัทวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่ม อัพเดตเทรนด์ผลิตภัณฑ์อาหาร ตั้งแต่ความต้องการบริโภคสิ่งที่ดีต่อสุขภาพทำให้ผู้ผลิตถอยห่างจากการใช้สีและสารปรุงแต่ง จนถึงอาหารที่ปราศจากกลูเตน ล่าสุดกับเทรนด์อาหารที่ผลิตโดยคำนึงถึงความยั่งยืน
10 เทรนด์อุตสาหกรรมอาหารปี 2561 ได้แก่ 1.ดีต่อใจ (mindful choices) จากการที่ผู้บริโภคมีความใส่ใจในการเลือกอาหารจากกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เห็นได้จากการที่แบรนด์ระดับโลกเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
2.ลดให้เลือก (lighter enjoyment) กระแสอาหารรักสุขภาพทำให้เกิดทางเลือกใหม่ในการบริโภค โดยการลดสารปรุงแต่งต่าง ๆ ให้เหลือในปริมาณที่พอเหมาะทั้งความหวาน รสชาติ เนื้อสัมผัส หรือแม้กระทั่งขนาดรับประทาน
3.เทรนด์การผลิตเชิงบวก (positively processed) ผู้บริโภคมองหาหลักประกันที่ทำให้มั่นใจในกระบวนการผลิตอาหารมากขึ้น และผู้ผลิตบางรายก็มองเห็นโอกาสในการชี้แจงรายละเอียด เพราะการสื่อสารและชี้แจงที่ชัดเจนนั้นจะยิ่งทำให้รู้สึกว่าสินค้ามีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น
4.เวียนใช้ซ้ำ (going full circle) เป็นการต่อยอดแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่แทนการผลิตใช้แล้วทิ้ง จะส่งผลอย่างมากในอุตสาหกรรมอาหาร การใช้ทรัพยากรอย่างฉลาดและคุ้มค่าจะเป็นเรื่องจำเป็นต่อธุรกิจและเกิดบริโภคซ้ำ จึงทำให้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติและบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ เป็นที่น่าจับตามอง รวมถึงการตระหนักถึงปัญหาพลาสติกและของเสียจากอาหารที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้ภาครัฐร่วมมือในการจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง
5.มากกว่าร้านกาแฟฮิป (beyond the coffeehouse) ธุรกิจกาแฟและชากลายเป็นสิ่งดึงดูดผู้บริโภคในกลุ่มมิลเลเนียล และเจน Z ทำให้รสและส่วนผสมของชาและกาแฟนั้นขยายออกไปแทบทุกประเภทของผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้รสชาติที่มากกว่าคำว่า “กาแฟ” อย่าง ลาเต้ เอสเพรสโซ่และมัคคิอาโต้ ยังได้รับความนิยมจนได้รับพื้นที่บนชั้นวางสินค้ามากขึ้น ส่วนชาก็กลายมาเป็นเครื่องดื่มที่ให้ความพรีเมียมโดยมีรสชาติแปลกใหม่ที่ถูกปรุงขึ้นจากการผสมผสาน
6.สีสันเสริมโซเชียลมีเดีย (say it with color) การถ่ายภาพอาหารแล้วโพสต์โซเซียลมีเดีย กลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริโภค ทำให้อาหารที่เต็มไปด้วยสีสันนั้นได้รับความนิยมอย่างมากและส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังโอกาสทางธุรกิจของสีจากธรรมชาติที่มาพร้อมกับฉลากสะอาด นอกจากนี้ อาหารที่ให้สีเครื่องเทศอย่างบีทรูทหรือขมิ้น ยังได้รับการจดจำในฐานะอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย
7.กินหรูอยู่ที่บ้าน (dining out, in) อาหารรสชาติดี ให้ประสบการณ์และคุณภาพเหมือนอยู่ในร้านอาหาร แต่สามารถปรุงกินเองได้ที่บ้าน ทำให้เกิดนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อตอบสนองความต้องการนี้
8.ของกินเล่นสู่มื้อย่อย (from snacks to mini meals) เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของขนมขบเคี้ยวจากอาหารว่าง ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยเพิ่มพลังงานและทดแทนมื้ออาหารหลักได้ โดยมีวัตถุดิบหลักที่เป็นส่วนประกอบของขนม อย่างมะเขือเทศขนาดเล็ก ซึ่งมีผลทำให้ตลาดมะเขือเทศเล็กเกิดการเติบโตขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดขนมขบเคี้ยวด้วยเช่นกัน
9.อาหารทะเลกำลังมา (ocean garden) คุณค่าทางอาหารที่อัดแน่นในผลิตภัณฑ์จากทะเล กำลังเพิ่มความหลากหลายทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยพื้นที่ของเนื้อสัตว์ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ จะถูกแทนที่ด้วยปลา เพราะผู้บริโภคลดการทานเนื้อแดงลง ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายทะเลชนิดต่าง ๆ จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนอกจากผัก นอกจากนี้ความเค็มในผลิตภัณฑ์จากทะเลนั้นยังสามารถแทนที่ความเค็มจากเกลือแล้วให้รสชาติและคุณภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย
10.เลือกจากอารมณ์ (bountiful choice) แบรนด์ต่างๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความต้องการของผู้บริโภค นำไปสู่การสร้างสินค้าที่มีความสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมตรงกับความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แบรนด์ต่างๆ ยังหันมาให้ความสนใจกับรสชาติ รูปแบบและบรรจุภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสินค้าแบบ Out of the Box เพื่อรักษาการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคอีกด้วย