วว.ปั้นตรามาตรฐานใหม่ หนุนสินค้าไทยโกอินเตอร์

วว.ปั้นตรามาตรฐานใหม่ หนุนสินค้าไทยโกอินเตอร์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ เปิดตัวเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ใน 6 กลุ่มสินค้าเป้าหมายนำร่อง การันตีคุณสมบัติเทียบเท่าระดับสากล หนุนผู้ประกอบการใช้อ้างอิงทำตลาดต่างประเทศ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ เปิดตัวเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ใน 6 กลุ่มสินค้าเป้าหมายนำร่อง การันตีคุณสมบัติเทียบเท่าระดับสากล หนุนผู้ประกอบการใช้อ้างอิงทำตลาดต่างประเทศ อนาคตหวังยกระดับทัดเทียม “ยูแอล” และ “ไอฟอม”

“ที่ผ่านมา วว.ให้การรับรองในเรื่องของ “ระบบ” การให้คุณภาพ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพขนาดไหน แต่การขยายขีดความสามารถในการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการในครั้งนี้ จะสามารถโฟกัสตัวผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง เช่น มะพร้าวแบรนด์นี้บริหารจัดการสวนในลักษณะที่เป็นออร์แกนิกจริงๆ เครื่องหมายรับรองก็จะเป็นตัวที่ช่วยสร้างมูลค่าและความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศว่า ได้ของที่มีคุณภาพจริง” ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าว

6 กลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย

สำหรับสินค้าและบริการ 6 กลุ่มนำร่องตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เกษตรตามหลัก GAP, เกษตรอินทรีย์, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ, ระบบขนส่งทางรางและการบริการท่องเที่ยว โดยร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในการพัฒนาและขับเคลื่อนการรับรองผลิตภัณฑ์ฯ อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กรมการท่องเที่ยว องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

เครื่องหมายการรับรองมาตรฐานฯ ของ วว. แตกต่างจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) โดยมาตรฐานของ วว.เป็นทางเลือก ไม่ใช่การบังคับให้ต้องมี อีกทั้งการกำหนดรายละเอียดต่างๆ เทียบเท่าระดับสากล ซึ่งเกณฑ์จะสูงกว่ามาตรฐานที่บังคับใช้ในประเทศ

อีกทั้งในอนาคต วว.จะพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก หมายความว่า ผู้ประกอบการจะสามารถใช้อ้างอิงเพื่อทำตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น หรือเทียบเท่ามาตรฐานยูแอล-ความปลอดภัยทางวัสดุไฟฟ้าของสหรัฐ, มาตรฐานไอฟอม-สินค้าเกษตรอินทรีย์ พัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ เป็นการรองรับการเปิดเสรีทางการค้า รวมทั้งลดผลกระทบที่อาจได้รับจากการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการจาก วว. 18 ราย คือ 1.การรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรตามหลัก GAP (ลำปาง 2 ราย สระบุรี 1 ราย) 2.การรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (นครปฐม 3 ราย อุบลราชธานี 9 ราย) 3.การรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยว (เชียงใหม่/ลำพูน/นนทบุรี จังหวัดละ 1 ราย)

สร้างมาตราฐานเทียบเท่าสากล

พร้อมกันนี้เพื่อขับเคลื่อนการใช้เครื่องหมายรับรองของ วว. จึงได้จัดสรรงบประมาณ 36 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ 2561-2564 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ 300 ราย สามารถเข้าถึงการรับรองมาตรฐานใหม่นี้ โดยในเฟสแรกนี้จะให้บริการตรวจประเมินฟรีสำหรับกิจการที่มีความพร้อม รวมทั้งให้สิทธิ์ใช้ตราสัญลักษณ์รับรองจาก วว.ด้วย ส่วนการทดสอบคุณภาพ ทางผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

โครงการนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน สินค้าและบริการต่างๆ ที่ผลิตขึ้นเพื่อการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ หรือเพื่อการส่งออกนั้น จำเป็นต้องได้คุณภาพตรงตามมาตรฐานกำหนด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด และจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย ไปสู่การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งภายในประเทศและในระดับสากล

“วว.ส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกษตร เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การสร้างมูลค่ากับสินค้าเกษตร ที่ดีที่สุดคือการสร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการที่ดี เช่น จีเอ็มพี เริ่มต้นจากการเกษตรปลอดภัย ไปสู่ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยอมที่จะจ่ายแพงเพื่อที่จะผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน”

หากผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานจะทำให้เกิดภาพลบกับผลิตภัณฑ์ในประเทศโดยรวม จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องของระบบการทำงานที่จริงจังของผู้ประกอบการ อาทิ เกษตรกรปลูกมะม่วงในแบบเดิมจะขายได้ในราคาตลาด แต่ถ้าพิถีพิถันในการปลูกให้เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรปลอดภัยก็จะได้ราคาเพิ่ม และราคายิ่งเพิ่มขึ้นอีกถ้าปลูกแบบออร์แกนิก

ดังนั้น หากทำได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ วว. แสดงว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตามที่ระบุไว้ โดย วว.และหน่วยงานพันธมิตรจะทดสอบดูวิธีการผลิตเท่ากับเป็นการรับประกันผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ