บรรจุภัณฑ์‘ไบโอ'รองรับไมโครเวฟ-ตู้แช่แข็ง
บรรจุภัณฑ์ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ รองรับได้ทั้งของร้อนและของเย็นระดับอุณหภูมิติดลบ เข้าไมโครเวฟได้ ผลงานการพัฒนาโดยจุฬาฯส่งต่อ “แดรี่โฮม” นำไปต่อยอดบรรจุไอศกรีม สานต่อเส้นทางองค์กรสายกรีน
บรรจุภัณฑ์ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ รองรับได้ทั้งของร้อนและของเย็นระดับอุณหภูมิติดลบ เข้าไมโครเวฟได้อีกด้วย ผลงานการพัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ส่งต่อ “แดรี่โฮม” นำไปต่อยอดสำหรับบรรจุไอศกรีม สานต่อเส้นทางองค์กรสายกรีน
บรรจุภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาขยะ โดยเฉพาะพลาสติกสังเคราะห์ซึ่งเป็นต้นเหตุภาวะขยะล้นโลก อีกทั้งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนตามมา ขณะที่พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่นำมาใช้บรรจุอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ
แต่ด้วยข้อจำกัดในแง่ของความเปราะบาง ทำให้ไม่สามารถใช้งานในอุณหภูมิติดลบหรือสูงเกิน 50 องศาเซลเซียส ไม่เช่นนั้นบรรจุภัณฑ์จะนิ่มย้วยไม่คงรูป จึงกลายเป็นโจทย์ให้กับ ศ.รัตนวรรณ มกรพันธุ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ และทีมนักวิจัย คิดค้นและพัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพที่สามารถนำมาใช้บรรจุอาหาร เครื่องดื่มทั้งร้อนและเย็นได้ดีขึ้น อาทิ กาแฟร้อน อาหารกึ่งสำเร็จรูป ประเภทบะหมี่ โจ๊กตลอดจนไอศกรีม
รับกระแสบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
นักวิจัยได้ปรับปรุงคุณสมบัติเม็ดพลาสติกชีวภาพ ด้วยการผสมสารเติมแต่งที่มาจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อเสริมแรงให้สามารถทนความร้อน แรงดึงและแรงดัดได้มากขึ้น ทั้งในอุณหภูมิปกติ และ -20องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิ สำหรับการเก็บรักษาอาหารในช่องแช่แข็ง
ผลการวิจัยพบว่า การผสมสารเติมแต่งวัสดุธรรมชาติจากข้าวโพดและชานอ้อย ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพลาสติกชีวภาพ สามารถนำไปขึ้นรูปตัวอย่างด้วยกระบวนการอัดฉีดให้ได้รูปทรงตามความต้องการ ใช้งานกับอาหารและเครื่องดื่มร้อนเย็นในช่วงอุณหภูมิ -35 ถึง 100 องศาเซลเซียส
สามารถล้างและใช้งานซ้ำได้ รวมทั้งใช้กับไมโครเวฟเพื่ออุ่นอาหารได้ไม่เกิน 1.5 นาทีที่กำลัง 800 วัตต์ แต่เมื่อใช้งานไปได้ระยะหนึ่งจะเริ่มย่อยสลายภายใน 4 เดือน กลายมาเป็นถ้วยพลาสติกที่สามารถทนความร้อนทนความเย็นได้ตามความต้องการ มีน้ำหนักเบา ที่สำคัญเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ไม่มีราคาเข้ามาใช้สามารถมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ถือเป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
ล่าสุดทางบริษัท แดรี่โฮม จำกัด ได้นำไปผลิตเป็นถ้วยไอศกรีมจากพลาสติกชีวภาพ พร้อมทั้งขยายผลสู่เชิงพาณิชย์เรียบแล้ว เพื่อสนองกับนโยบายของบริษัทที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค
ด้วยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากปิโตรเคมีเป็นพลาสติกชีวภาพในทุกผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น นม ไอศกรีมและโยเกิร์ต เพื่อไปสู่การเป็นแบรนด์สีเขียว สร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก
แนะทำโลโก้ไบโอพลาสให้โดดเด่น
เพ็ญศิริ ศิลากุล ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า ข้อจำกัดที่ยังมีอยู่ของบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพก็คือ ราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป 100% แม้ว่าคุณสมบัติจะดีขึ้นในแง่ของฟังก์ชั่นการใช้งานและสิ่งแวดล้อม ทว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมองว่า ต้นทุนสูง
“ในฐานะนักวิจัย ความท้าทายต่อไปก็คือ การปรับปรุงคุณสมบัติให้ดีขึ้นเพื่อตอบสนองกับการนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ อาทิ กล่องข้าว ที่ตอบโจทย์กระแสคนใส่ใจสิ่แวดล้อมและลดต้นทุนการผลิต เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพมากขึ้น ก็จะช่วยทำให้ราคาถูกลง”
อย่างไรก็ตาม ความอยากอย่างหนึ่งคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างพลาสติกชีวภาพกับพลาสติกทั่วไปด้วยการสังเกตหรือสัมผัส เจ้าของแบรนด์จึงควรที่จะมีโลโก้ให้รับรู้ได้ง่าย ผู้บริโภคจะสามารถเลือกได้ถูกต้อง พร้อมกันนี้หากจะกระตุ้นให้เกิดการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพมากขึ้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้ามาช่วยกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน