ใกล้จะเป็นจริง ไทยศูนย์กลางเทรดโชว์ด้านหุ่นยนต์อาเซียน
อุตฯหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไทยยังสดใส นโยบายรัฐสนับสนุนการลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตั้งเป้าปี 2563 เม็ดเงินลงทุน 4 แสนล้านบาท ด้านทีเส็บหนุนเทรดโชว์ 5 งานใหญ่ดันไทยฮับอาเซียนตลาดไมซ์ด้านหุ่นยนต์
นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามหรือฟีโบ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และกรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ คาดการณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน มีการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติฯ กว่า 3.4 แสนล้านบาท และหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดรัฐบาลใหม่ จะเกิดเม็ดเงินลงทุนจากฝั่งซัพพลาย ไม่ว่าจะเป็น การผลิตหุ่นยนต์และชิ้นส่วน หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้เข้ามาในระบบอีกมาก
ที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาตรการจูงใจให้อุตสาหกรรมสามารถนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ ตั้งแต่ปี 2560 โดยการคืนภาษีให้ 3 ปีเพื่อสนับสนุนในการลงทุน ภายใต้เงื่อนไขในการสร้างงานให้แก่ประเทศไม่ต่ำกว่า 30% ของการลงทุน คาดว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมลงทุนแล้วราว 9 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 3 แสนล้านบาทภายในปี 2563 ขณะเดียวกันก็เจรจากับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อยื่นขอตั๋วลงทุนกว่า 9 หมื่นล้านบาท หวังลดการขาดดุล 1.5-2 แสนล้านบาทต่อปีจากการนำเข้าระบบอัตโนมัติฯ และตั้งเป้าใช้เวลา 3 ปี กระตุ้นการขยายตัวของตลาดเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติฯ ของไทยสู่ 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนการจัดตั้งสมาคมเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ประเทศไทย (TARA) รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านนี้ เพื่อผลิตบุคลากรและขยายผลการวิจัยและพัฒนาสู่ต้นแบบนวัตกรรม
“ระบบอัตโนมัติฯ เป็นเหมือนสึนามิ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามหรือป้องกัน สิ่งที่ต้องทำคือ การเตรียมพร้อมรับมือ เพราะไทยไม่ใช้ประเทศต้นทางของเทคโนโลยีนี้ แต่เป็นประเทศผู้ใช้และต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับทรัพยากรบุคคลที่ต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกับเทคโนโลยี"
รายงานจากการ์ทเนอร์ ปี 2562 ระบุว่า ปี 2563 หุ่นยนต์จะแย่งงานมนุษย์ 1.8 ล้านงาน แต่ในขณะเดียวกันก็จะเกิดตำแหน่งงานใหม่กว่า 2.3 ล้านงาน ไทยก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ตำแหน่งงานจะหายไป 9% แต่จะเกิดงานใหม่ที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติฯ 15% ยกตัวอย่าง โปรแกรมมิ่ง โค้ดดิ้ง เอ็นแอลพี (NLP) ฯลฯ เป็นสมองของระบบที่คนไทยต้องพัฒนาขึ้นใช้เอง เป็น Local Content ที่ไม่สามารถนำเข้าหรือให้ประเทศอื่นทำให้ เราจึงต้องเตรียมคนให้พร้อม เริ่มช่วงแรกในระดับปวช. และ ปวส. ขณะที่กลุ่มนักวิจัยและพัฒนาขั้นสูงที่ต้องใช้เวลา ก็ต้องเร่งสร้างตามมา
นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีบทบาทสำคัญในการดึงเทคโนโลยีและนักลงทุนเข้าไทย จึงมีความพร้อมที่จะผลักดันเพื่อยกระดับงานแสดงสินค้าในไทยให้เป็นศูนย์กลางงานแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของอาเซียน ปัจจุบันมีงานแสดงสินค้าด้านนี้อย่างน้อย 5 งาน ล้วนแต่เป็นงานระดับอาเซียน มีพื้นที่ใช้งานกว่า 9 หมื่นตารางเมตร ไม่ว่าจะเป็น Intermach, Propak Asia, Manufacturing Expo, Metalex และ Automation Expo