เปิดฉาก 'คอมมาร์ต' ปลุกกำลังซื้อไอที หวังเงินสะพัด3พันล.
ผู้ค้าหวังงานคอมมาร์ตงัดกำลังซื้อไอที “เออาร์ไอพี” ผู้จัดชี้ภาพรวมตลาดช่วงต้นปีแนวโน้มสดใส การเมืองไม่นิ่งไม่กระทบ ตั้งเป้าเงินสะพัด 3 พันล้านบาท คนตบเท้าเข้างาน 6 แสนราย ด้าน "เจไอบี" ชี้หากการเมืองชัดเจนยิ่งดึงความเชื่อมั่นผู้บริโภค
แม้ภาพรวมการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล หากแต่บรรยากาศโดยภาพรวมของอุตสาหกรรมไอทียังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน แต่หากการเมืองชัดเจนเร็ว จะเพิ่มความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้กล้าใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อที่ยังเห็นได้ชัดเจนมาจากกลุ่มเกมเมอร์ และผู้ใช้งานไอทีในระดับมืออาชีพ
นายพรชัย จันทรศุภแสง ผู้อำนวยการธุรกิจสื่อไอทีและดิจิทัล บมจ.เออาร์ไอพี กล่าวว่า บรรยากาศการซื้อขายในอุตสาหกรรมไอทีช่วงไตรมาสแรกของปีมีแนวโน้มเป็นบวก ขณะนี้แม้การเลือกตั้งยังไม่มีความชัดเจน แต่คาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบ เนื่องจากการใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ เช่น เกมเมอร์ หรือผู้ใช้ระดับโปรที่ต้องการใช้งานเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูง
“ส่วนตัวผมไม่ค่อยกังวลกับปัจจัยทางการเมืองมากนัก ด้วยวันนี้ตลาดหลักที่ทำเงินให้อุตสาหกรรมพีซีมาจากเกม และเครื่องสำหรับการทำงานมืออาชีพเช่น เวิร์คสเตชั่น กระตุ้นโดยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นเน็ตไอดอล นิยมใช้พีซีเพื่อการตัดต่อวีดิโอ ด้านแบรนด์ผู้ผลิตพีซีทุกรายต่างเข้ามาเล่นในตลาดนี้ ”
เขากล่าวว่า ปีนี้ยอดขายพีซีรวมโน้ตบุ๊คและเดสก์ท็อปในไทยน่าจะทรงตัวที่ประมาณ 2.5 ล้านเครื่อง พฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มที่ใช้งานทั่วไปจะเปลี่ยนเครื่องทุก 3 ปี ทว่านักเล่นเกม ผู้ใช้งานระดับโปรมักอัพเกรดเครื่องใหม่ทุก 7-8 เดือน
คาดเงินสะพัด 3 พันล.
สำหรับงาน “คอมมาร์ต คอนเน็ค 2019” ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 28-31 มี.ค. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนาพื้นที่กว่า 1.4 หมื่นตารางเมตร คาดว่าผลตอบรับจะออกมาดีไม่ต่างกับครั้งที่ผ่านๆ มา โดยมีเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท คนสนใจเข้าชมงานกว่า 6 แสนราย คอมมาร์ตจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าปีนี้อุตสาหกรรมไอทีไทยจะมีทิศทางอย่างไร
“ผมเชื่อว่าหลังเลือกตั้งบรรยากาศการจับจ่ายน่าจะคึกคักมากขึ้น เม็ดเงินจากงานคงไม่ต่างจากเดิมด้วยปัจจัยบวกทั้งยอดขายจากกลุ่มนักเล่นเกมและมือโปรซึ่งแต่ละเครื่องราคากว่า 7 หมื่นบาทขึ้นไป ช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนน่าจะมีกลุ่มเด็กนักเรียนสนใจมาเดินงาน ด้านผู้ค้าทุกรายต่างโหมทำโปรโมชั่นลดราคากันอย่างเต็มที่ ทว่าจำนวนคนที่มาชมคงน้อยลงจากเดิมซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนราย เนื่องจากเปลี่ยนสถานที่”
อย่างไรก็ดี ทางผู้จัดงานพยายามพลิกโฉมงานใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ แนวคิด ด้านสถานที่ที่เปลี่ยนไปแม้อาจเสียยอดขายจากกลุ่มเดิมบางส่วน แต่เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เปิดตลาดใหม่กับกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อย่านบางนา สุขุมวิทย์และศรีนครินทร์ ด้านการเดินทางนับว่ามีความสะดวกทางเลือกมีทั้งรถไฟฟ้าและรถยนต์ มากกว่านั้นขยายกลุ่มเป้าหมายจากเจนเอ็กซ์สู่เจนวายซึ่งจะกลายเป็นกำลังซื้อที่สำคัญในอนาคต
สำหรับสินค้าขายดีคาดว่าอันดับแรกจะเป็นพีซีสัดส่วน 60% รองลงมาอุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ 30% และโมบาย 10% แต่ทั้งนี้ครั้งนี้จะเน้นขายผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือมากขึ้นดังนั้นเป็นไปได้ว่าสัดส่วนจากโมบายจะเติบโตกว่าเดิม
นายพรชัยเผยว่า งานครั้งนี้มีพันธมิตรเข้าร่วมกว่า 150 ราย นอกจากการขายสินค้าปกติเพิ่มสีสันด้วยโซน “ดิจิทัล พาวิลเลียน” โดยร่วมมือกับพันธมิตรเช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.), สมาคมไทยไอโอที, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ฯลฯ จัดแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีที่น่าสนใจทั้งสมาร์ทโฮม อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) สมาร์ทโฮม รวมถึงความก้าวหน้าของการปรับใช้เทคโนโลยี 5จี
พร้อมระบุว่า ปีนี้มีแผนงานคอมมาร์ตทั้งหมด 3 ครั้ง สำหรับครั้งถัดไปมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 4-7 ต.ค. 2562 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนาเช่นเดิม
เจไอบีหวังยอดขาย150 ล.
นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี.คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ค้าปลีกไอทีรายใหญ่ กล่าวว่า ปัจจัยทางการเมืองย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคแน่นอน หากการเมืองนิ่ง การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ประเมินขณะนี้ ผู้บริโภคมีเงินทว่ายังไม่กล้าออกมาใช้จ่าย ส่วนของเจไอบี งานคอมมาร์ตครั้งนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ประมาณ 150 ล้านบาท
เขากล่าวต่อว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมพีซีไทยปี 2562 น่าจะทรงตัวหรืออาจตกลงเล็กน้อย การปรับตัวของผู้ค้านอกจากเข้าร่วมงานอีเวนท์ เทรดโชว์ต่างๆ ต้องเพิ่มโมเดลการทำธุรกิจให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เช่น หันไปขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น เจไอบีตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 3 ปีจากนี้สัดส่วนรายได้จากช่องทางออนไลน์จะเพิ่มไปได้ถึง 25% จากปัจจุบัน 11% ปี 2562 นี้บริษัทตั้งเป้าไว้รายได้ไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้า 9,000 ล้านบาท
“รายได้ที่มาจากออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ แต่ละเดือนเราทำยอดขายได้ประมาณ 100 ล้านบาท มีผู้เข้าชมกว่า 3 ล้านราย ยอดการสั่งซื้อ 1.5 หมื่นรายการ”
ไอดีซี ประเทศไทย คาดการณ์ไว้ว่า ภาพรวมการใช้จ่ายไอทีในประเทศไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รับอานิสงส์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ระหว่างปี 2560-2565 เติบโตเฉลี่ย 5.4% ปี 2560 มีมูลค่า 4.14 แสนล้านบาท ปี 2561 มูลค่า 4.24 แสนล้านบาท
ส่วนในปี 2562 จะมีมูลค่า 4.52 แสนล้านบาท เมื่อถึงปี 2563 จะเพิ่มไปถึง 4.89 แสนล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 5.16 แสนล้านบาท และปี 2565 ประมาณ 5.40 แสนล้านบาท แม้โดยภาพรวมจะเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว ทว่าเทคโนโลยีเช่น บริการพับบลิคคลาวด์ บิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) มีแนวโน้มเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุกปี