ปฐมา จันทรักษ์ ชูไอบีเอ็มไทย ขับเคลื่อนดิจิทัลเอเชีย
ไอบีเอ็มหนึ่งในตำนานไอทีโลก ยังเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง แม้สถานการณ์การเมืองไทยยังร้อนระอุ “ปฐมา” เอ็มดีหญิงระบุไทย คือ ตลาดใหญ่ระดับท็อป 3 ของเอเชีย แปซิฟิกกลยุทธ์ปีนี้ชู เอไอ คลาวด์ ซิเคียวริตี้” เจาะทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
ไอบีเอ็มหนึ่งในตำนานไอทีโลก ยังเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง แม้สถานการณ์การเมืองไทยยังร้อนระอุ “ปฐมา” เอ็มดีหญิงระบุไทย คือ ตลาดใหญ่ระดับท็อป 3 ของเอเชีย แปซิฟิก และเป็นเบอร์ 1 ในอินโดจีน มีรายได้ในไทยเฉียด “หมื่นล้าน” บาทต่อปี กลยุทธ์ปีนี้ชู “เอไอ คลาวด์ ซิเคียวริตี้” เจาะทุกกลุ่มอุตสาหกรรม พัฒนาโซลูชั่นลงลึกถึงผู้ประกอบการรายย่อย ตั้งเป้าเทคโนโลยีของไอบีเอ็มต้องสัมผัสได้ เตรียมดึง “ควอนตัม เทคโนโลยี” เข้าไทย เชื่อจะพลิกโฉมโลกธุรกิจได้อีกครั้ง
ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงทิศทางการทำธุรกิจในไทยที่กำลังถูกพายุดิจิทัลลูกใหญ่โหมซัดอย่างไม่ปราณี แต่สร้างโอกาสมหาศาลให้ไอบีเอ็ม และท่ามกลางสถานการณ์ที่ร้อนระอุของการเมืองไทย
ไม่หวั่นการเมือง-ส่งเทคฯอัจฉริยะบุกไทย
“ในฐานะที่เราเป็น คันทรี่ ลีดเดอร์ ของไอบีเอ็ม เราต้องขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า ไม่มีคำว่า Wait & See ต่อให้เกิดปัญหาอะไร ก็ต้องเดินหน้า การเมืองในประเทศจะเป็นอย่างไร ธุรกิจต้องไปให้ได้ ลูกค้าต้องอยู่ได้ ไอบีเอ็มต้องช่วยลูกค้า ถ้าลูกค้าโต ไอบีเอ็มก็โต”
ไม่บ่อยนักที่ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติระดับโลกอย่าง ไอบีเอ็ม จะให้ความเห็นแตะประเด็นสถานการณ์บ้านเมือง แต่ “ปฐมา” แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา เมื่อถูกถามถึงบรรยากาศการทำธุรกิจในไทยช่วงการเมืองไม่นิ่ง
เธอ ยอมรับว่า ถ้าการเมืองนิ่งกว่่านี้ ภาพรวมของธุรกิจหลายๆ เซกเม้นท์ในประเทศจะดีขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ไอบีเอ็มยังเดินหน้าลงทุนนำนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มศักยภาพธุรกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามนโยบายของบริษัทแม่ไอบีเอ็มที่วันนี้เน้นเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือเอไอ ที่เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนโลกธุรกิจ โดยไอดีซี ระบุว่า เม็ดเงินลงทุนในระบบเอไอทั่วโลกจะแตะ 35.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 เพิ่มขึ้น 44% จากปี 2561 และจะเติบโตจนถึง 79.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปี 38% ในช่วงปี 2561-2565
ปัจจุบัน ไทยเป็นตลาดใหญ่ 1 ใน 3 ของภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และอันดับ 1 ในอินโดจีน โดยไอบีเอ็มใช้ไทยเป็นฮับขยายตลาดไปยัง ลาว กัมพูชา และพม่า ด้วยการตั้งพาร์ทเนอร์ โดยเชื่อว่าเป็นตลาดที่กำลังมีอนาคตและพร้อมใช้เทคโนโลยี คาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า ไอบีเอ็มจะสามารถสร้างสัดส่วนรายได้ 5-10% จากภูมิภาคอินโดจีน
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารไอบีเอ็ม เคยระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำธุรกิจในไทยพร้อมมาก เติบโตมากที่สุดในอาเซียน รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมของดิจิทัลก็เติบโตสูงมากเช่นกัน
ตามรายงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ไอบีเอ็มมีรายได้ในปี 2560 ราว 9,295 ล้านบาท มีสินทรัพย์ราว 5,000 ล้านบาท และมีกำไรมากกว่า 700 ล้านบาท
ปฐมา กล่าวว่า กลยุทธ์ในไทยปีนี้ การลงทุนในเรื่องต่างๆ ยังทำต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ทั้งรัฐ และเอกชนนำเสนอโซลูชั่นด้านเอไอ คลาวด์ ซิเคียวริตี้ รวมถึงบล็อกเชน เจาะ 20 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบไปด้วย 1. ยานยนต์ 2. การเงินและธนาคาร 3. ประกันภัย 4. การดูแลสุขภาพ 5. อิเล็กทรอนิกส์ 6. พลังงาน 7. ภาครัฐ 8. การผลิต 9. สื่อและบันเทิง 10. ค้าปลีก 11. โทรคมนาคม 12. ท่องเที่ยว 13. ปิโตรเคมี 14. น้ำมันและก๊าซ 15. ซัพพลายเชน 16. ทรัพยากรบุคคล 17. โฆษณา 18. การเกษตร 19. อาหาร 20. การตลาด
ดันเอไอเจาะเกษตร-เฮลธ์แคร์
เทคโนโลยีอัจฉริยะเหล่านี้ ไอบีเอ็มจะพัฒนาเป็นโซลูชั่นที่จับต้องได้ ใช้งานได้จริง วัดผลได้จริง โดยเฉพาะเอไอ และคลาวด์ โดยเอไอเป็นการตามรอยกลยุทธ์บริษัทแม่ คือ Watson anywhere ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมในโลกรวมถึงไทยนำไปใช้แล้วมากมาย ไอบีเอ็ม ยกตัวอย่างโปรเจคที่ล่าสุดร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเอไอในชื่อวัตสันไปช่วยเกษตรกรสู่สมาร์ท ฟาร์มเมอร์
“ไอบีเอ็มใช้โซลูชั่นด้านเอไอ หรือวัตสันให้เกษตรกรผู้ผลิตอ้อยได้ใช้ประเมินสภาพอากาศ สภาพดิน การเกิดศัตรูพืชแมลง ตรวจสอบผลผลิต ความหวานของอ้อย ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีหลายอย่างทั้ง เอไอ บิ๊กดาต้า พัฒนาในรูปแบบแดชบอร์ด ที่เกษตรกรดูข้อมูลได้ผ่านสมาร์ทโฟน”
ปฐมา บอกว่า โปรเจคนี้กำลังอยู่ในเฟสแรก โดยมีพื้นที่เป้าหมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือราว 2,000 ไร่ อยู่ระหว่างทดสอบระบบ และเทรนนิ่งเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีอีกโปรเจคใหญ่ที่ใช้โซลูชั่นเอไออยู่ระหว่างการเปิดตัวเป็นโปรเจคในกลุ่มเฮลธ์แคร์
เหล่านี้เป็นตัวอย่างโปรเจคที่ไอบีเอ็มพยายามผลักดันเทคโนโลยีไปสู่ผู้ใช้งานปลายทางให้มากขึ้น ลบภาพอดีตที่ไอบีเอ็มมักถูกมองว่า เป็นโซลูชั่นไอทีขนาดใหญ่ เป็นแบคอัพให้กลุ่มสถาบันการเงิน หรือธุรกิจขนาดใหญ่
“เราอยากเห็นโซลูชั่นของไอบีเอ็มเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่แค่ทางเลือก เราจะเจาะเข้าไปทุกอุตสาหกรรมทุกระดับ
ต่อไปนี้เทคโนโลยีของไอบีเอ็มจะเข้าไปอยู่ในทุกๆ ส่วนของการใช้ชีวิตคน ต้องจับต้องได้ จับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีลูกค้ารายเล็กๆ กระจายเทคโนโลยีลงไปในระดับคอนซูเมอร์ แล้วคนก็จะเข้าใจว่า ไอบีเอ็มไม่ใช่แค่เทคโนโลยีหลังบ้าน แต่โซลูชั่นของไอบีเอ็มคือแขนขา คือสมองของธุรกิจ"
ดึง"ควอนตัม"บุกตลาดไทย
เธอ กล่าวด้วยว่า วันนี้ไอบีเอ็มกำลังเข้าสู่ยุค “ควอนตัม เทคโนโลยี” เทคโนโลยีประมวลผลที่เป็นเลิศ เร็ว และแรงกว่าคอมพิวเตอร์ปัจจุบันที่มีอยู่ในโลก ซึ่งเชื่อว่าจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าโลกธุรกิจอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ ไอบีเอ็มได้พัฒนาควอนตัมเทคโนโลยี ที่พร้อมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายใต้ชื่อ IBM Q System One หรือ ไอบีเอ็ม คิว โดยมีศูนย์ไอบีเอ็ม คิว ควอนตัม คอมพิวเทชั่น เซ็นเตอร์ อยู่ที่นิวยอร์ก ปัจจุบันไอบีเอ็ม คิว ได้ถูกนำไปใช้ในเคสต่างๆ ในอุตสาหกรรม เช่น ซัมซุงกำลังศึกษานำควอนตัมไปใช้กับเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้อุปกรณ์มีความอัจฉริยะขึ้นไปอีก
ไอบีเอ็ม เชื่อว่าภายใน 5 ปี อุตสาหกรรมต่างๆ จะเริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ควอนตัมแก้ปัญหาเฉพาะเจาะจงที่การใช้คอมพิวเตอร์แบบคลาสสิกทั่วไปเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ได้
"ควอนตัม เทคโนโลยี จะเข้ามาทำให้เทคโนโลยีอย่างเอไออัจริยะเพิ่มขึ้นไปอีกด้วยการประมวลผลที่เร็วมาก แน่นอนว่าไทยจะได้สัมผัสเทคโนโลยีนี้แน่ และจะเข้ามาพลิกโฉมหน้าทุกอย่าง โดยเฉพาะธุรกิจได้อีกครั้งหนึ่ง" ปฐมา กล่าว
อัลไลด์มาร์เก็ต รีเสิร์ช ระบุว่า ตลาดควอนตัมคอมพิวติงระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ทั่วโลกทำรายได้ 650 ล้านดอลลาร์ในปี 2560 และคาดว่าจะเติบโตถึง 5,853 ล้านดอลลาร์ในปี 2568 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมอากาศยาน ธนาคาร บริการทางการเงิน ประกันภัย และการแพทย์