“นิโคลา เทสลา” อัจฉริยะโลกลืม
“นิโคลา เทสลา” เป็นชื่อที่หลายคนอาจจะไม่รู้จักเมื่อเทียบกับยอดนักประดิษฐ์ที่ชื่อ “โทมัส เอดิสัน” แต่ความอัจฉริยะทำให้เขาโด่งดังมีคนนำประวัติมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉายเร็วๆ นี้
“นิโคลา เทสลา” เป็นชื่อที่หลายคนอาจจะไม่รู้จักเมื่อเทียบกับยอดนักประดิษฐ์ที่ชื่อ “โทมัส เอดิสัน” แต่ความอัจฉริยะทำให้เขาโด่งดังมีคนนำประวัติมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉายเร็วๆ นี้ จึงควรทำความรู้จักกันหน่อยครับ
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า “นิโคลา เทสลา” เป็นยอดนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์และวิศวกรไฟฟ้าชาวยูโกสลาเวีย ผู้สร้างนวัตกรรมล้ำยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โดยการพัฒนาระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งเป็นระบบส่งพลังงานพื้นฐานที่ใช้งานทั่วโลกในปัจจุบัน ทั้งเป็นผู้ประดิษฐ์และค้นพบเทคโนโลยีที่สำคัญมากมาย ตัวอย่างเช่น มอเตอร์ไฟฟ้า ขดลวดเทสลา รีโมทคอนโทรล เทคโนโลยีวิทยุสื่อสารไร้สาย เครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์และวิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็ก Tesla (T) ที่วิศวกรรุ่นหลังตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
แต่เนื่องจากมีแนวคิดและจินตนาการก้าวไกลเกินกว่าผู้คนในยุคเดียวกันมาก ทำให้บางครั้งถูกมองเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ซึ่งต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและจบชีวิตอย่างน่าเศร้าในช่วงบั้นปลายชีวิต เรียกได้ว่าเป็น “อัจฉริยะที่โลกลืม” เพราะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้มากที่สุดคือ ระบบไฟฟ้ากระแสสลับ เป็นคนแรกที่ออกแบบและพัฒนาขึ้น ประกอบด้วย Generator หม้อแปลงไฟฟ้า สายส่งและระบบจ่ายไฟ เป็นระบบที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบันและเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามไฟฟ้า” หรือ “War of Currents” ระหว่างนิโคลา เทสลากับโทมัส เอดิสัน เพราะในขณะนั้น บริษัทของเอดิสันใช้การส่งไฟฟ้ากระแสตรง แต่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าระบบกระแสไฟฟ้าสลับของเทสลาอยู่มาก
ต่อมาในภายหลัง บริษัท General Electric ที่เอดิสันร่วมก่อตั้งก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ระบบไฟฟ้ากระแสสลับของเทสลาต่อจากเวสติ้งเฮาส์ แต่เทสลากลับไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆ จากสิทธิบัตรนี้ เพราะก่อนหน้านี้ได้ขายขาดให้กับเวสติ้งเฮาส์ไปแล้วในราคาถูกแสนถูก
เทสลายังเป็นผู้คิดค้นมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ หรือที่เรียกว่ามอเตอร์เหนี่ยวนำ ซึ่งมีความสำคัญเพราะใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าเกือบทุกชนิด เช่น พัดลม เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องซักผ้า นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้พัฒนาอุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุ ซึ่งได้รับสิทธิบัตรในปี 1900 ใกล้เคียงกันกับในยุโรปที่ Guglielmo Marconi นักประดิษฐ์ชาวอิตาลีได้รับสิทธิบัตรในปี 1896 แต่วิทยุของมาร์โคนีส่งสัญญาณได้ไม่ไกลเท่ากับของเทสลา มาร์โคนียังใช้อุปกรณ์บางอย่างจากสิทธิบัตรของเทสลา ทำให้มาร์โคนีได้รับสิทธิบัตรในสหรัฐและได้ชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์วิทยุ และได้รับรางวัลโนเบล แต่ต่อมาเทสลาได้ยื่นฟ้องศาลและศาลสูงสุดตัดสินให้สิทธิบัตรเป็นของเทสลา แต่สิทธิบัตรก็ได้หมดอายุไปแล้ว
จะเห็นได้ว่าชีวิตของ “นิโคลา เทสลา” แตกต่างจาก “โทมัส เอดิสัน” มาก อาจจะเรียกว่าโชคชะตาหรืออาจจะเป็นนิสัยของเทสลาเองเขาเป็นปัจเจกชนที่เอาแต่ใจตัวเองจนไม่เคยมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง เข้าสังคมไม่เป็น และที่สำคัญคือทำธุรกิจไม่เป็น จึงถูกโกงจากหุ้นส่วนอยู่เรื่อยไป แต่เราขอยกย่องเขาในฐานะที่เป็นผู้อุทิศตนให้แก่การไล่ล่าตามหาความฝัน ที่จะแปลงโลกทั้งใบให้เป็นสื่อนำไฟฟ้าเพื่อทุกคนจะได้ใช้ไฟฟ้าอย่างเสรี โดยไม่ใส่ใจว่าเขาจะได้รับอะไรตอบแทนหรือไม่
*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช., เมธีวิจัยอาวุโส สกสว.
*ภาพประกอบจาก nikolateslamuseum.org