ดีป้า ดึงลงทุนดิจิทัล 1.8 หมื่นล.
ชู4ข้อเสนอ ยืดลดภาษี 200%อีก3ปี-เร่งหารือรมว.ดีอีก่อนชงครม.ใหม่
ดีป้าเผยกลยุทธ์ดูดเม็ดเงินลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยเพิ่ม เปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมในต่างประเทศ ระบุไทยให้สิทธิประโยชน์ภาษีดีกว่า ชู 4 ข้อเสนอผลักดันการลงทุน พร้อมต่ออายุลดหย่อนภาษี 200% อีก 3 ปี ครอบคลุมบริการอัจฉริยะ-บริการดิจิทัล ก่อนชงเรื่องถึง รมว.ดีอี เสนอที่ประชุมครม.ชุดใหม่ ชี้หากฉลุย ดันมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลทะลุ 1.89 หมื่นล้านภายในปี 65
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้าได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) นำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของไทยกับต่างประเทศ เพื่อปรับกลยุทธ์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้สอดคล้องความต้องการของนักลงทุนไทยและต่างชาติ สร้างศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลคนไทยเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลตามแผนและนโยบายของรัฐบาล
ผลการศึกษา พบว่า ไทยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ดีกว่าต่างประเทศ ทั้งระยะเวลาการยกเว้นภาษี อัตราการลดหย่อน สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการภาษีของไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนค่อนข้างสูง ขณะที่ เมื่อพิจารณามาตรการทางการเงินอื่นๆ พบว่า ไทยและต่างประเทศนิยมใช้มาตรการให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนภายใต้วัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น พัฒนาศักยภาพบุคลากร ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัล การทำการตลาด โดยมีจำนวนเงินและกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ดีป้าได้จัดทำ 4 ข้อเสนอเพื่อผลักดัน รวมถึงเสนอต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษี 200% ไปอีก 3 ปี โดยจะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร สมาคมซอฟต์แวร์ บีโอไอ อีอีซีและเสนอต่อนายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ข้อเสนอสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การสร้างอุปสงค์ที่เพียงพอในการชักจูงการลงทุน (Securing Sizable Demand) 2.ศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ระบบดิจิทัล (Digital One – Stop Service: DOSS) 3. สนามทดสอบธุรกิจดิจิทัล (Digital Regulatory Sandbox) และ 4.กองทุนร่วมทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Venture Capital Fund for SMEs) ซึ่งเป็นข้อเสนอเพื่อการดึงดูดการลงทุนในระดับพื้นที่ โดยข้อเสนอเหล่านี้เป็นการประยุกต์มาตรการที่มีการดำเนินการในต่างประเทศ
สำหรับมาตรการลดหย่อนภาษี 200% สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ซื้อหรือใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จากนักพัฒนาหรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ขึ้นทะเบียนกับดีป้า อยู่ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทนั้น ครั้งนี้ได้ขยายระยะเวลาไปอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563-31 ธ.ค.2565 และปรับวงเงินสูงสุดที่ขอยกเว้นภาษีได้จาก 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท ทั้งขยายจากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นครอบคลุม 3 สาขาหลัก ได้แก่ ซอฟต์แวร์ (Software) ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware & Smart Device) และบริการดิจิทัล (Digital Service) ที่มีการผลิตและขายอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อัจฉริยะที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การขาย และบริการด้านดิจิทัล รวมไปถึงการให้คำปรึกษาและบริการออกแบบระบบ และบริการดิจิทัล
โดยมาตรการช่วงที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนตั้งแต่1 ม.ค. 2560-30 เม.ย. 2562 มากกว่า 140 ราย และคาดว่าจะกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 1,300 ล้านบาท และที่จะเพิ่มขึ้น คือ ฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์อัจฉริยะ และบริการดิจิทัล โดยสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายการใช้เทคโนโลยีและการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นเพิ่มขึ้นกว่า 3,158 ล้านบาท
ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการทั้งหมดนี้ จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการลงทุนด้านดิจิทัลมากถึง 6 เท่า ภายในปี 2565 หรือคิดเป้นเม็ดเงินประมาณ 1.89 หมื่นล้านบาท