‘กลุ่มทรู’ แข่งดุศึกไฟเบอร์บรอดแบนด์
“ทรูออนไลน์” เปิดเกมแข่งดุไฟเบอร์บรอดแบนด์ ส่งแพ็คเกจใหม่ความเร็วระดับกิกะบิตต่อวินาทีลุยทั่วไทย เล็งเทงบการตลาด 60 ล้านบาทจัดหนักแคมเปญ หวังปีนี้รายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 11%
นายธนภูมิ ภาคย์วิศาล ผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ทรูออนไลน์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดฟิกซ์บรอดแบนด์ประเทศไทยมีความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่กทม. ส่วนต่างจังหวัดเริ่มร้อนแรงมากขึ้นตามลำดับ
สำหรับทรูออนไลน์ กลยุทธ์การแข่งขันจะไม่เน้นทำสงครามราคา แต่มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ล่าสุดปฏิวัติวงการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายในบ้านด้วย “Gigatex Fiber Router” ที่ให้ความแรงเน็ตบ้านไฟเบอร์ 1 กิกะบิตต่อวินาทีเป็นรายแรกและรายเดียวในขณะนี้
ปัจจุบัน โครงข่ายการให้บริการครอบคลุมทุกหัวเมืองใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ แนวทางการลงทุนขยายโครงข่ายจะพิจารณาตามศักยภาพการเติบโตและความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่เบื้องต้นที่จะโฟกัสอย่างมากมีอยู่ 10 จังหวัด เชื่อว่าในระยะสั้นโอเปอร์เรเตอร์คู่แข่งไม่อาจตามทันได้ เนื่องจากต้องพัฒนาเราท์เตอร์สำหรับรับส่งสัญญาณให้รองรับซึ่งต้องใช้เวลา
ด้านแพ็คเกจ ราคาเริ่มต้นที่ 899 บาทต่อเดือน แถมฟรีเราท์เตอร์ราคา 3,900 บาท ทั้งมีตัวเลือกสามารถเพิ่มกล่อง ทรูไอดีทีวี สำหรับรับชมคอนเทนท์ระดับโลกทั้งพรีเมียร์ลีดและภาพยนต์ดังในราคา 999 บาทต่อเดือน ด้านลูกค้าเก่าสามารถขอรับสิทธิ์อัพเกรดได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าอุปกรณ์เพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี โดยปกติลูกค้าเข้าใหม่ส่วนใหญ่นิยมสมัครแพ็คเกจความเร็ว 100 เมกะบิตต่อวินาทีสัดส่วนกว่า 30-40% จากที่มีทางเลือกเพิ่มขึ้นคาดว่าจะมีลูกค้าใหม่สนใจสมัครแพ็คเกจความเร็ว 1 กิกกะบิตต่อวินาทีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30%
เขาเผยว่า จากนี้มีแผนทำแคมเปญการตลาดอย่างหนักจนถึงสิ้นปี เพื่อว่าจะทำให้แพ็คเกจที่อัพเกรดใหม่นี้เข้าถึงตลาดแมสให้ได้มากที่สุด ในแผนเตรียมงบประมาณการตลาดไว้ราว 60 ล้านบาท สำหรับจัดทำแคมเปญต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นงบก้อนใหญ่ที่สุดของทรูออนไลน์ในปีนี้
ปัจจุบัน ทรูออนไลน์มีฐานลูกค้า 3.5 ล้านราย โดยเฉลี่ยใช้ความเร็ว 100-200 เมกะบิตต่อวินาที บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า ภาพรวมผลประกอบการปี 2562 จะเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 11% เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาซึ่งธุรกิจคอนซูเมอร์บรอดแบนด์โต 11% ทำรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าตลาดยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อ จากปัจจัยความนิยมบริโภคดิจิทัลคอนเทนท์และการใช้งานดีไวซ์ที่มากขึ้น