กสทช.เร่งเฮียริ่งประมูลคลื่น5จี

กสทช.เร่งเฮียริ่งประมูลคลื่น5จี

พร้อมชงวาระประชุมไอทียู-เอ็นบีทีซีรับความท้าทายเทคโนโลยี

ฐากรอัพเกรดแผนประมูลคลื่น 5จีแบบมัลติแบนด์​ เผยมีความคืบหน้าแล้วกว่า 90% โดยเตรียมเสนอต่อที่ประชุม กสทช. พิจารณา ระบุเดือนพ.ย.จะนำร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ คาดว่าประมูลได้ในปี 2563 หรือต้นปี 2564

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมไอทียู-เอ็นบีทีซี เอเชีย แปซิฟิก เร็กกูเลเตอร์ ราวเทเบิล (อาร์อาร์) แอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรนนิ่ง โปรแกรม (ไอทีพี) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย.2562 เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสทช. และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุม 21 ประเทศ

มีการหารือในหัวข้อ อาทิ 1.การอภิปรายเกี่ยวกับความท้าทายของยุคดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น 2.แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเครือข่ายของโทรศัพท์มือถือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอนาคตในการพัฒนา 5จี รวมถึงการใช้งานอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที)​ และ 3.การแบ่งปันมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค และเพิ่มความเชื่อมันโดยการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ความท้าทายของการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

นายฐากร กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพยายามขับเคลื่อน 5จี อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่แบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน​ (มัลติแบนด์)​ ป​ร​ะ​ก​อ​บ​ด​้​ว​ย คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์, 26-28 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 300-400 กิกะเฮิรตซ์​ และคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งขณะนี้​ มีความคืบหน้าแล้วกว่า 90% โดยเตรียมเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณา​ต่อไป

"ในต.ค.นี้จะมีการจัดประชุมเวิลด์ เรดิโอ คอมมูนิเคชั่น คอนเฟอเรนซ์ (ดับเบิลยูอาร์ซี) เพื่อสรุปมาตรฐานคลื่นความถี่ที่ใช้ในการรับรอง 5จี โดยเชื่อว่า จะเป็นไปตามแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (สเปกตรัม โรดแมป) ที่ กสทช. ได้วางไว้ หรืออาจมีการกำหนดคลื่นความถี่เพิ่มเติม จากนั้นในพ.ย. 2562 จะนำร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งหากไม่มีปัญหาอุปสรรค คาดว่า การประมูลคลื่นความถี่จะเกิดขึ้นได้ในปี 2563 และประเทศไทยจะสามารถเปิดให้บริการ 5จี ได้ อย่างเร็วในช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564"

นายฐากร กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังเตรียมเสนอที่ประชุม กสทช.ให้มีการพิจารณาเว้นการชำระค่าใบอนุญาตใน 2-3 ปี หลังการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์นำเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ไปลงทุนด้านโครงข่ายเพื่อรับรอง 5จีที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศก่อน ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้เชื่อว่า จะช่วยจูงใจและสร้างความมั่นใจให้กับโอเปอเรเตอร์ให้เข้าร่วมการประมูลอีกครั้ง

“ความคืบหน้าการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างว่าจ้าง 3 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ และกำหนดเงินเยียวยาให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่า จะได้ข้อสรุปในช่วงปลายเดือนก.ย.นี้ จากนั้น จะนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)​ มาใช้ในการเยียวยา​ให้กับ อสมท