บุคคลทรงอิทธิพลโลกสาขาวัคซีนบอก..ทั่วโลกอยู่ในภาวะ Vaccine hesitancy
รีโน รัปปูโอลี ศาสตราจารย์จากอิมพีเรียล บุคคลทรงอิทธิพลอันดับ 3 ของโลกในสาขาวัคซีน เดินทางมาไทยเพื่อเข้ารับรางวัลและร่วมงานประชุมวิชาการ ระบุทั่วโลกอยู่ในภาวะ Vaccine hesitancy
ศาสตราจารย์รีโน รัปปูโอลี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น จำกัด (จีเอสเค) ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดอันดับสามของโลกในสาขาวัคซีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยอิมพีเรียล ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้ารับรางวัล 2019 Edward Jenner Lifetime Achievement Awardee ในงานประชุมวิชาการด้านวัคซีนระดับโลก 13th Vaccine Congress 2019 จากการอุทิศตนในการพัฒนาแนวคิดทางการแพทย์และการคิดค้นพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรคต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกและเป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขของโลก
"ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาวัคซีน ความสำเร็จนี้ไม่ใช่ของผมเพียงคนเดียวแต่เป็นผลจากความทุ่มเทของทีมงานกว่าร้อยชีวิต รวมถึงจีเอสเคที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานในการพัฒนา วัคซีนนับว่าเป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ดีที่สุดในรอบร้อยปีที่ผ่านมา เพราะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกปลอดภัยจากโรคติดเชื้อหลายชนิดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาว ซึ่งการพัฒนาวัคซีนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดเทคโนโลยีนวัตกรรม บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา ขณะนี้มีความสนใจที่จะศึกษาการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหนองใน ซึ่งจะช่วยผู้คนกว่า 78 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นโรคนี้ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อดื้อยา ซึ่งกำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก" ศ.รีโน กล่าว
สำหรับประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านการทดลองทางคลินิกที่มีคุณภาพ โดยจีเอสเคก็กำลังศึกษาวัคซีน RSV ในประเทศไทย จึงมั่นใจว่าไทยมาถูกทางแล้ว และอยากให้พัฒนาขึ้นจนสามารถส่งต่อความรู้และวิทยาการไปยังทั่วโลกได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตนยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่นักวิจัยและสถาบันในประเทศไทย
"ขณะนี้ทั่วโลกเกิดคำที่เรียกว่า Vaccine hesitancy หรือความลังเลใจว่าจะรับวัคซีนดีไหม หากเราปฏิเสธการรับวัคซีน โรคติดเชื้ออีกหลายโรคอาจจะกลับมาแพร่ระบาด เช่น โรคโปลิโอ โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ และโรคหัด จึงอยากฝากถึงทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ว่า ให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการป้องกันโรคต่างๆ" ศ.รีโน กล่าว
ศ.รีโน ได้ศึกษาวิจัยและริเริ่มแนวคิดการพัฒนาวัคซีนต่างๆ ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ของวงการแพทย์สมัยใหม่ และถูกนำมาใช้ในการป้องกันโรคอย่างแพร่หลาย ได้แก่ แนวคิด reverse vaccinology หรือการพัฒนาวัคซีนแบบย้อนกลับ โดยการศึกษาชุดข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อโรคเพื่อศึกษาหาแอนติเจนหรือสารก่อภูมิต้านทานที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการปฏิวัติการพัฒนาวัคซีนและทำให้สามารถลดระยะเวลาในการพัฒนาวัคซีน รวมถึงแนวคิด Genetic detoxification หรือกระบวนการขับสารพิษโดยใช้วิธีทางพันธุกรรม
ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคติดเชื้อที่สำคัญหลายชนิด อาทิ วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนน้อยลง และวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น เพื่อป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงการคิดค้น CRM 197 ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนไอพีดี (IPD) เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดี วัคซีนฮิบ (Hib) เพื่อป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (meningococcal vaccine) และยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนายาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ศ.รีโน ยังมีผลงานวิจัยตีพิมพ์มากกว่า 690 ผลงานในวารสารวิชาการนานาชาติ
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนมีความสำคัญมากต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คน เพราะช่วยป้องกันโรคและยุติการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาวัคซีนนวัตกรรมขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอนำเข้าจากเมืองนอกเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญคือ ทุกภาคส่วนต้องเห็นความสำคัญและร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่วางนโยบายสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการวางนโยบายเพื่อดึงดูดเอกชนที่มีความพร้อมในการลงทุนด้านการวิจัย รวมถึงนักวิจัยที่มีความสามารถและมีความกระตือรือร้นในการสร้างนวัตกรรม
และท้ายสุดคือ การสร้างเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัยทั่วโลก อย่างงานประชุมวิชาการ Vaccine Congress 2019 ในครั้งนี้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาวัคซีนคือ จะทำอย่างไรให้ได้วัคซีนนวัตกรรมที่ดีกว่าของเดิมหรือยังไม่เคยมีมาก่อน และจะทำอย่างไร จึงจะได้วัคซีนที่มีราคาเหมาะสมและสามารถช่วยเหลือคนทุกระดับ โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสได้
ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยค่อนข้างตื่นตัวกับการพัฒนาวัคซีน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ภาคส่วนเหล่านี้เกิดการประสานงานกันเป็นหนึ่งเดียว และสามารถส่งต่อวัคซีนที่มีคุณภาพไปถึงผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงอยากให้รัฐบาลเป็นผู้นำการสร้างความร่วมมือนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทุนวิจัย การสร้างกลไกให้มีจำนวนนักวิจัยทำงานเพิ่มขึ้น และการสร้างความร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และเทคโนโลยีนวัตกรรม โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนนวัตกรรมของโลกในอนาคต
นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การนำวัคซีนมาใช้ป้องกันโรคส่งผลให้แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตและการเกิดโรคติดเชื้อลดลงอย่างมาก ปัจจุบัน มีการใช้วัคซีนของจีเอสเคทั่วโลกกว่า 2 ล้านโด๊สต่อวันใน 158 ประเทศ ขณะนี้ จีเอสเคมีวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนามากกว่า 30 ชนิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ถึง 21 โรค นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาวัคซีนนวัตกรรมกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ มากกว่า 150 แห่งทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2562 จีเอสเคได้ร่วมมือกับนักวิจัยไทยและสถาบันต่างๆ เพื่อการวิจัยทางคลินิกมากกว่า 50 งานวิจัย อาทิ งานวิจัยวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อไวรัสโรต้าที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง เชื้อไวรัสเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก โรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรนชนิดไร้เซลล์ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคไข้กาฬหลังแอ่น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขและสุขภาพที่ดีของคนไทย ตามความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน
ปัจจุบัน จีเอสเคกำลังดำเนินการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทยจำนวน 3 งานวิจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาระบาดวิทยาของไวรัส RSV และการศึกษาวัคซีน RSV ในเด็กและทารก ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยในอนาคต จะขยายการวิจัยไปถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และประชากรที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ รวมถึงจะมีการวิจัยเพื่อศึกษาวัคซีนปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อป้องกันการกำเริบจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย