บริการ “ไรด์ เฮลลิ่ง” พุ่ง ชี้ไทยโต “แสนล้าน”
บริการ “ไรด์ เฮลลิ่ง” ในไทยโตพุ่ง ศูนย์ที่ปรึกษาทางธุรกิจฯ ธรรมศาสตร์ ประเมินปี 68 มูลค่าตลาดทะลุ 1.2 แสนล้าน เหตุตอบโจทย์ความสะดวกรวดเร็วผู้บริโภคยุคใหม่ เชื่อเป็นบทบาทสำคัญสนับสนุนเศรษฐกิจไทย การท่องเทีี่ยว แนะรัฐออกกฏดูแลอย่างเท่าเทียม
บริการเรียกยานพาหนะผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ ไรด์ เฮลลิ่ง (Ride Hailing service) กลายเป็นทางเลือกสำคัญของผู้บริโภคในเมืองยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวก คล่องตัว ในไทยมีผู้ให้บริการ ไรด์ เฮลลิ่ง ไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะติดการตีความในข้อกฏหมายที่ยังไม่ชัดเจน แต่บริการไรด์ เฮลลิ่งที่ให้บริการขณะนี้ กลับได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความพยายามของภาครัฐ และผู้บริการในการหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจประเทศ
นายสุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC Thammasat) กล่าวว่า ปัจจุบัน บริการไรด์ เฮลลิ่ง ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต และการเดินทางของคนหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ด้วยความง่ายและสะดวกในการใช้บริการ ปัจจัยเกื้อหนุน ทั้งการเข้าถึงสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต การเติบโตสังคมเมือง (Urbanization) การพัฒนาทางเทคโนโลยีและดิจิทัล รูปแบบการใช้ขีวิตของคนยุคใหม่ที่เน้นความคล่องตัว ส่งผลให้บริการไรด์ เฮลลิ่ง ซึ่งเป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชัน ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในสังคมเมือง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 34.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของคนไทยทั้งประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 73% ในอีก 30 ปีข้างหน้า
คาดมูลค่าแตะ1.2แสนล้านปี68
รายงานการศึกษาและวิจัยเชิงวิชาการภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอพพลิเคชัน (Ride-hailing service): บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน" ของ CONC Thammasat ระบุว่า อุตสาหกรรม ไรด์ เฮลลิ่งในไทยมีมูลค่าตลาดรวม 21,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของจีดีพีภาคขนส่งโดยสารทางบกไทย
ทั้งนี้ คาดว่า อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตสูงขึ้นจนมีมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาทในปี 2568 หรือคิดเป็น 20-25% ของจีดีพีภาคขนส่งโดยสารทางบกไทยในอีก 6 ปีข้างหน้า โดยเมื่อปี 2561 มีผู้โดยสารใช้บริการไรด์ เฮลลิ่งในไทยราว 2.4 ล้านคนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคนต่อเดือนในปี 2568 มีผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารเพื่อให้บริการไรด์ เฮลลิ่งปี 2561 ราว 105,000 คนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 590,000 คนต่อเดือนในปี 2568
ไทย 1 ใน 3 ประเทศกม.ไม่เอื้อ
นายสุทธิกร กล่าวว่า ปัจจุบัน บริการไรด์ เฮลลิ่ง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของภาครัฐในการกำหนดขอบเขต หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถนำมาให้บริการเป็นรถสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันได้อย่างถูกต้อง
ปัจจุบัน ไทยเป็น 1 ในสามประเทศสุดท้ายภูมิภาคอาเซียนที่ไม่มีกฎหมายรองรับการให้บริการไรด์ เฮลลิ่ง ผลสำรวจ ระบุว่า 95% ผู้บริโภคเห็นด้วยกับการทำให้บริการเรียกรถผ่านแอพอย่างแกร็บถูกกฎหมาย และ 77.24% ของคนไทยเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
ทั้งยังพบว่า การพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรมไรด์ เฮลลิ่ง สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมายนั้น จะช่วยสร้างประโยชน์ให้หลายภาคส่วน ส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้บริโภค หรือผู้โดยสาร ไรด์ เฮลลิ่งทำให้การเดินทางในชีวิตประจำวันมีความสะดวก เพิ่มความมั่นใจในการเดินทางด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานด้านความปลอดภัยสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ 92% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการไรด์ เฮลลิ่งปลอดภัยกว่าทางเลือกอื่นๆ 95% ของผู้โดยสารเห็นว่าช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ขณะที่ 77% ระบุว่า การใช้บริการมีความสะดวก ช่วยประหยัดเวลาเรียกรถ ส่วนผู้ขับขี่ พบว่า บริการไรด์ เฮลลิ่งเป็นช่องทางประกอบอาชีพช่วยสร้างรายได้ ลดภาระหนี้สิน ขณะที่ บริการนี้เข้ามาช่วยยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
ดันศก.-ภาคการท่องเที่ยวโต
นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจ ทั้งรายได้โดยตรงที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ และรายได้ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง รายได้เหล่านี้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมหลักต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม
"บริการ ไรด์ เฮลลิ่ง มีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยกลายเป็นทางเลือกสำคัญรองรับบริการนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาตินอกจากนี้ ยังช่วยลดอุปสรรคด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีแปลภาษาผ่านแอพพลิเคชัน และปัญหาด้านค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมด้วยการแจ้งราคาล่วงหน้าก่อนการเดินทาง"
แนะรัฐเร่งกำหนดกฏเอื้อทุกฝ่าย
นายสุทธิกร กล่าวต่อว่า ได้เสนอแนวทางกำหนดมาตรฐานกำกับดูแลบริการไรด์ เฮลลิ่งในไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรรับฟังความคิดเห็นและมุมมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ที่ให้บริการไรด์ เฮลลิ่ง ผู้ขับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม ผู้ให้บริการแอพพลิเคชัน รวมถึงนักวิชาการ ครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.มาตรฐานความปลอดภัยที่ให้บริการ มีเทคโนโลยีที่รองรับ เช่น ระบบจีพีเอส ติดตามตำแหน่งและสถานะของการเดินทางแบบเรียลไทม์ หรือมีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน มีระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้ขับ มีศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง
2.มาตรฐานผู้ขับขี่และรถยนต์ ต้องผ่านการคัดกรองตรวจสอบประวัติอาชญากรรม กำหนดมาตรฐานของรถยนต์ 3.มาตรฐานการให้บริการและเทคโนโลยีต้องมีเสถียรภาพ มีระบบแปลภาษาที่ช่วยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ชำระค่าบริการได้หลายรูปแบบ ทั้งเงินสดและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 4.มาตรฐานด้านราคา ควรให้มีการคำนวณราคาค่าบริการตามกลไกตลาด แจ้งราคาค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าก่อนการเดินทาง 5.มาตรฐานของบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหรือผู้พัฒนาแอพพลิเคชัน ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องในไทย ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทยหรือบริษัทไทย เสียภาษีให้ประเทศ มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต