กสทช.แบล็คลิสต์ "ทีโอที" เซ่นเน็ตชายขอบสุดอืด
ด้านซีอีโอ ทีโอที ระบุ ขออ่านหนังสือที่เป็นทางการก่อนชี้แจง
กสทช.ไม่ทนเซ็นคำสั่งด่วนเลิกสัญญา เน็ตชายขอบ ทีโอที หลังชนะประมูล 3 โครงการรวดมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท แต่ส่งมอบงานไม่ได้เลย ระบุขยายเวลาให้แล้วแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ พร้อมขึ้นบัญชีดำทันที เนื่องจากจะเปิดอี-บิดดิ้งรอบใหม่ หาเอกชนมารับงานต่อ ชี้ถึงวันนี้ทีโอทีโดนค่าปรับอ่วมแล้ว 800 ล้านบาท ระบุหลังจากนี้ให้ทีโอทีส่งตัวแทนมาเจรจา ด้านซีอีโอ ทีโอที ระบุ ขออ่านหนังสือที่เป็นทางการก่อนชี้แจง
โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (โซน ซี) หรือโครงการเน็ตชายขอบ บมจ.ทีโอที ได้ชนะการประมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกอบด้วย การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภาคเหนือ 1 การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ภาคเหนือ 2 และการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาคารศูนย์ยูโซ่ เน็ต จำนวน 391 แห่ง
ทั้งนี้ การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งหมด เป็นโครงการสำคัญตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยสร้างโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ และช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจสังคมของหมู่บ้านในการสร้างทั้งอาชีพ รายได้และการศึกษา
โดยคณะกรรมการทีโอที ฝ่ายบริหารทีโอทีได้ติดตาม และกำกับดูแลให้การดำเนินการเป็นไปตามที่กำหนดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสนับสนุนทรัพยากรทุกด้านเพื่อให้งานโครงการเน็ตชายขอบสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย ซึ่งความตั้งใจของรัฐบาลอาจจะไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย เพราะจนถึงขณะนี้ทีโอทียังไม่สามารถส่งมอบได้เลย และศูนย์ยูโซ่ เน็ตยังมีเพียงหลังคาและโครงสร้างภายนอกเท่านั้น
“ฐากร”ลงนามยกเลิกสัญญา
วานนี้ (4 ต.ค.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ตนได้ลงนามให้คำสั่งไปยังนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เพื่อส่งหนังสือยกเลิกสัญญาบริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (โซน ซี) จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ที่ทีโอทีชนะการประมูลประกวดราคา 3 สัญญาวงเงินรวม 6,486,399,926 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้ว และได้ขึ้นบัญชีดำ เพื่อห้ามทีโอทีเข้าร่วมประมูลโครงการเน็ตชายขอบของกสทช.ที่จะจัดประมูลใหม่ (อี-บิดดิ้ง) ทดแทนโครงการที่ทีโอทีทำไม่สำเร็จด้วย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
สำหรับโครงการ 3 สัญญา ประกอบด้วย 1.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต เซอร์วิส) ภาคเหนือ 2 มูลค่าโครงการ 2,103,800,000 บาท 2.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเช่นเดียวกัน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าโครงการ 2,492,599,999 บาท และ 3.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบาย เซอร์วิส) มูลค่าโครงการ 1,899,999,927 บาท
การยกเลิกสัญญาของทีโอทีทั้งหมดนั้น เลขาธิการกสทช.เสริมว่า เนื่องจากทีโอทีไม่สามารถส่งมอบโครงการได้ภายในวันที่ 15 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ ทีโอทีเคยส่งหนังสือขอเจรจาขยายระยะเวลาดำเนินงานกับสำนักงานกสทช.มาแล้ว ซึ่งตามที่ระบุในเงื่อนไขประมูล (ทีโออาร์) ทีโอทีต้องส่งมอบโครงการทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2561
บี้ทีโอทีส่งตัวแทนเจรจา
อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนต่อไป สำนักงานกสทช.ขอให้ทีโอทีส่งตัวแทนเข้ามาเจรจากับกสทช.ภายใน 7 วัน เพื่อลงพื้นที่โครงการอย่างละเอียดว่า โครงการในพื้นที่ส่วนไหนที่สามารถตรวจรับงานได้ หรือ ไม่ได้บ้าง ยกเว้นพื้นที่อุทยาน ที่กสทช.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ทีโอทีดำเนินการได้ จะไม่ถูกนำขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบของกสทช. ทำให้ ณ วันที่หนังสือยกเลิกดังกล่าวออก ทำให้ค่าปรับในการส่งมอบโครงการล่าช้าหยุดอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท ทันที จากนั้นจะพื้นที่ที่ยกเลิกสัญญาไปประมูลอี-บิดดิ้งต่อไป หากราคาประมูลเกินกว่ามูลค่าที่ทีโอทีประมูลได้ ทีโอทีต้องรับผิดชอบส่วนต่างด้วย
นายฐากร กล่าวต่อว่า โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของทีโอทีไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องสเปคของไฟเบอร์ออพติก ที่ทำไม่ตรงกับทีโออาร์ ที่ระบุว่าให้ใช้ของผู้ผลิตภายในประเทศ แต่ทีโอทีกลับใช้ของประเทศจีนค้างสต๊อกที่ราคาถูกกว่า แต่หากไม่ตรงกับทีโออาร์ ก็ไม่สามารถปรับให้ได้
ดังนั้น ขอให้ทีโอทีเข้ามาเจรจาหากต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดคาดว่าจะใช้งบประมาณเพียง 200 กว่าล้านบาท เพื่อให้สามารถตรวจรับงานได้ และได้เงินค่าโครงการไปซึ่งคุ้มค่ามากกว่าปล่อยให้ยกเลิกสัญญา เพราะทีโอทียังไม่ได้รับเงิน จากการทำโครงการได้รับเพียงเงินจ่ายล่วงหน้าสัญญาเพียง 5% คิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท ส่วนเรื่องอาคารยูโซ่ ที่ต้องสร้างจำนวน 371 แห่งนั้น ทีโอทีสร้างเสร็จเพียง 16 แห่ง คณะกรรมการตรวจรับงานได้ 3 แห่ง เนื่องจากผู้รับเหมาทิ้งงาน ก็ต้องมาเจรจากันว่าจะทำอย่างไร
“กสทช.ได้ให้โอกาสทีโอทีในการขยายระยะเวลาแล้ว แต่เมื่อทีโอทีทำไม่ได้โครงการนี้มีข้อตกลงคุณธรรมอยู่ ซึ่งเมื่อลงนามในข้อตกลงแล้วจะมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเข้าร่วมสังเกตการณ์ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การลงพื้นที่ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินงานตามสัญญา และการส่งมอบงาน ดังนั้นกสทช.จึงต้องยกเลิกสัญญากับทีโอที”
สำหรับความเคลื่อนไหวของ ทีโอที ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนต์ชัย กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ขออ่านหนังสือที่เป็นทางการก่อนจะชี้แจงภายหลัง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ทีโอทียิ้มรับยุติข้อพิพาท “เอไอเอส”
-ทีโอทีเท 400 ล้าน ปรับกลยุทธ์องค์กร
-‘แอดวานซ์’ เคลียร์ข้อพิพาท ‘ทีโอที’ ดันกำไรพุ่ง ค่าใช้จ่ายลดทันทีเกือบ 3 พันล้าน
-กสทช.ลุยเวิร์กช้อปเอไอหนุน5จี