‘วอนเดอร์’ ปฏิวัติวงการศึกษา ทริคใหม่เรียนรู้ผ่าน'แชทบอท'
“วอนเดอร์” แชทบอทเพื่อการศึกษาฝีมือสตาร์ทอัพไทย นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่เสริมสร้างทักษะ และให้คำปรึกษา ปรับพื้นฐานความรู้ผ่านบทเรียนขนาดกะทัดรัด ทั้งง่าย ฟรี และสนุกเหมือนคุยกับเพื่อน
การศึกษาไทยไม่สิ้นหวังเมื่อมีแชทบอทเสริมสร้างการเรียนรู้ “วอนเดอร์” สามารถให้คำปรึกษา ทำแบบทดสอบหรือแม้กระทั่งเล่นเกมผ่านแอพพลิเคชั่นในไลน์ เฟซบุ๊คแมสเซนเจอร์ มุ่งยกระดับการศึกษาไทยและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนรู้
แม้สตาร์ทอัพจะเป็นเทรนด์ในประเทศไทยมานานหลายปี แต่ “เอ็ดเทคสตาร์ทอัพ” กลับไม่ค่อยหวือหวาเท่ากลุ่มเฮลท์เทค หรือ ฟินเทค เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคทั้งเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐและนักลงทุน อีกทั้งความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทย
สตาร์ทอัพจุดเปลี่ยนการศึกษาไทย
ชิน วังแก้วหิรัญ กรรมการผู้บริหาร บริษัท วอนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ก่อตั้งวอนเดอร์แชทบอทเพื่อการศึกษา กล่าวว่า วอนเดอร์ พัฒนามาจากความสงสัยว่า ทำไมสื่อการเรียนการสอนของไทยยังคงวนเวียนอยู่ที่หลักสูตรเดิมๆ จึงได้นำเสนอวิธีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เปรียบเสมือนการพูดคุยแชทบอทกับเพื่อน ซึ่งเข้าถึงผู้ใช้ได้ง่ายเพียงแชทกับน้องกระรอกบน Facebook Messenger หรือ แอพพลิเคชั่น Line บทเรียนปรับตามระดับความรู้ของแต่ละบุคคล
ตัวอย่างเช่น บทเรียนเรื่องเลขยกกำลัง จะเริ่มจาก บวก ลบ คูณ หาร อย่างง่าย หากถ้าผู้เรียนตอบผิดจะปรับระดับไปสู่ข้อที่ง่ายลง แต่หากตอบถูกก็จะไปสู่ข้อที่ยากขึ้น ทำให้การเรียนสนุกและสะดวกขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและสนใจเรียนมากยิ่งขึ้น ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์
สิ่งที่โดดเด่นคือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User experience) โดยเนื้อหาขมวดอยู่ในรูปแบบขนาด bite-sized หรือกะทัดรัดพอดี จึงมีความคล้ายกับไมโครเลิร์นนิ่ง ที่แยกเนื้อหาใหญ่ๆ ออกมาเป็นก้อนเล็กๆ ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนจบบทได้เร็วขึ้น มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้เรียนอยู่ในระบบประมาณ 1.5 แสนคน มีผู้ใช้งานแอคทีพประมาณ 9 พันคนต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กนักเรียนต่างจังหวัด
"แชทบอทนี้ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เราจึงมองว่าตรงจุดนี้สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดี โดยในระยะยาวเราไม่ได้วางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ Kids learning เพียงอย่างเดียว แต่วางกลุ่มเป้าหมายคือ everyone learning ที่รวมไปถึงผู้ใหญ่ด้วย”
พร้อมทั้งได้ปรึกษากับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ทำตำราเรียนวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กมัธยม และมีความต้องการที่จะนำไปใส่ไว้ในแบบเรียนด้วย หรือในอนาคตแบบเรียนของเด็กไทยจะมีคิวอาร์โค้ด หรือ แชทบอท เมื่อเด็กสแกนแล้วก็จะสามารถทบทวนบทเรียน หรือเล่นเกมที่คล้ายกับคุกกี้รัน ที่สามารถเล่นกับเพื่อนได้เลย นับเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กไทยในอีกช่องทางหนึ่ง
“เอ็ดเทค” มูลค่ากว่า 313 ล้านบาท
จากข้อมูลพบว่าตัวเลขการลงทุนของ VC ทั่วโลกใน Edtech นั้น มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปีที่ผ่านมามีมูลค่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์หรือประมาณ 2.97 แสนล้านบาท เติบโต 30% คาดว่าในปี 2563 จะมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมูลค่าของ Edtech อยู่ที่ประมาณ 156-313 ล้านบาท โดยยังมุ่งเน้นในตลาดหลัก เช่น ภาษาอังกฤษ และเริ่มมีการนำเทคโนโลยีระดับสูง (Deep Tech) มาใช้งาน ทั้งปัญญาประดิษฐ์ แมชีนเลิร์นนิ่ง และไอโอที เป็นต้น
"นับว่าตลาด Edtech Ecosystem ไทยยังคงอยู่ในขั้นเริ่มตั้งไข่ แต่คาดว่าภายในปีนี้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 100% ซึ่งถ้าหากวอนเดอร์สามารถเป็นส่วนหนึ่งให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้ ก็จะช่วยยกระดับการศึกษาของไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และต่อไปในอนาคตจะสามารถก้าวถึงขั้นที่เด็กทั่วโลกเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันและเกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้”
ทั้งนี้ วอนเดอร์ ยังได้ขยายขอบข่ายในภาคของธุรกิจ โดยนำแชทบอทไปใช้ในการฝึกอบรมพนักงาน ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ให้ช่วยพัฒนาเนื้อหาที่จะทำให้พนักงานเข้าใจในคุณค่าขององค์กร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจธนาคาร กลุ่มธุรกิจพลังงาน
“ข้อดีที่คอปอร์เรทชอบแพลตฟอร์มเราเพราะว่ามี Data analytics ศาสตร์แห่งข้อมูลที่ละเอียดเพราะทุกครั้งที่กดเล่นกับแชทบอท ดาต้าจะบันทึกไว้ทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อก่อนการทำอีเลิร์นนิ่ง จะรู้เพียงว่าเขาเรียนจบวีดิโอหรือไม่เท่านั้น โดยที่เราไม่รู้ว่าระหว่างที่เขาดูวีดิโอได้มีส่วนร่วมกับบทเรียนมากน้อยแค่ไหน แต่วอนเดอร์ทำให้รู้ว่า พนักงานของเขาต้องพัฒนาตรงจุดไหนบ้าง ส่งผลให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กรมากยิ่งขึ้น” ชิน กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-การปฏิรูปการศึกษาในยุคดิจิทัล | ปฏิรูปประเทศไทย
-'ปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่' หนุนเสริมรัฐจัดการศึกษา
-ปัญหาหลักของการศึกษาไทย | ปฏิรูปประเทศไทย
-สภาวะการศึกษาไทยปี 2561 | ปฏิรูปประเทศไทย