'ข่าวปลอม' ปัญหาใหญ่แต่ไม่ไร้ทางแก้
รู้หรือไม่ข่าวที่เราอ่านบนโซเชียลมีเดียอาจไม่เป็นข่าวจริงทั้งหมด บางครั้งอาจไม่รู้เลยว่านั่นคือข่าวปลอม ภัยเงียบที่ใกล้เพียงปลายนิ้วนี้ นอกจากระมัดระวังด้วยตัวเอง ถ้ามีสิ่งที่ช่วยกรองความถูกต้องก็คงดี
จำได้ไหมอย่างเหตุการณ์เด็ก 13 คนติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ทั้งสื่อไทย-ต่างประเทศต่างให้ความสนใจเสนอข่าวอย่างมาก เรียกได้ว่าเกาะติดกันตลอด 24 ชั่วโมง มีการรายงานผ่านทั้งช่องทีวี เว็บไซต์ รวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ แน่นอนว่าช่วงนั้นเราจะเห็นเพจที่ไม่คุ้นตาก็เข้ามาร่วมรายงานเช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นมีข่าวปลอมแฝงเข้ามา ทั้งเรื่องที่เจอตัวทั้ง 13 คนแล้ว ทั้งที่จริงยังไม่พบ มีการบิดเบือนไทม์ไลน์การทำงานของเจ้าหน้าที่ มากไปกว่านั้นยังมีการเชิญชวนให้บริจาคเงินจำนวนมาก
นี่เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องที่ พีรพล อนุตรโสตถิ์ รักษาการผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ของสำนักข่าวไทย อสมท. เล่าถึงข้อสังเกตข่าวปลอมที่มักถูกแชร์ในประเทศไทย เพราะข่าวปลอมในปัจจุบันนั้นยังเป็นเรื่องใกล้ตัวเราด้วย ที่มักจะมาใน 2 รูปแบบ คือ คำเตือน และคำแนะนำ เช่น สุขภาพ อาหาร ยารักษาโรค และอาหารรักษาโรค
รวมถึงคำเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่จะทำให้เป็นโรค และโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันง่ายนัก อย่างโรคมะเร็ง เบาหวาน ไต และเส้นเลือดสมอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดช่องว่างให้ข้อมูลเท็จที่ใส่เข้ามาในระบบ จะได้รับความสนใจในการแชร์ต่อ และยังได้ประโยชน์ในเชิงการค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย
ขณะที่ช่วงหลังจากนั้นเริ่มปลดล็อกทางการเมือง ก็จะมีเรื่องการเมืองมากขึ้นจากผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมือง นอกจากนี้ก็ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับฤดูกาล ภัยพิบัติ กฎหมายใหม่ๆ รวมถึงเทศกาลและเหตุการณ์สำคัญที่มีผู้สนใจจำนวนมาก อย่างเรื่องฝุ่นละออง
พีรพล กล่าวว่า ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบันนั้น อันดับแรกคือเรื่องของเทคโนโลยี เพราะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ทุนและการวิจัยสูง ในการต่อสู้กับข่าวปลอมที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว เป็นวงกว้าง ส่วนที่สองยังคงติดอยู่เรื่องอคติ แม้จะรู้ว่าเป็นเรื่องไม่จริงก็ยังแชร์ต่อไป ทำอย่างไรให้คนรู้ว่ามีอันตรายต่อตัวเองและสังคม
เมื่อถามว่า ผู้บริโภคจะทำยังไงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม พีรพล บอกว่า ต้องตรวจสอบก่อนว่าข่าว ชุดข้อมูล วิดีโอ ที่จะส่งออกไปเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ที่สำคัญต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่แชร์ไปด้วย แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่ต้องตรวจสอบ อย่างเช่น ช้อมูลส่วนตัว หรือเงิน เราก็ต้องตรวจสอบฝ่ายผู้รับปลายทางแทนว่าข้อมูลนั้นเป็นตัวจริงไหม และนี่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ต้องตระหนักก่อนที่จะถูกแชร์
“ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบันนั้น อันดับแรกคือเรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้ทุนและการวิจัยสูง ส่วนที่สองยังคงติดอยู่เรื่องอคติ แม้จะรู้ว่าเป็นเรื่องไม่จริงก็ยังแชร์ต่อไป ทำอย่างไรให้คนรู้ว่ามีอันตรายต่อตัวเองและสังคม”
นอกจากเราต้องระมัดระวังเองแล้ว วันนี้โชคดีขึ้นไปอีก เพราะ Facebook ออกเครื่องมือมาช่วยเป็นฟีเจอร์กรอง “ข่าวปลอม” (Fake News) สำหรับประเทศไทย โดย อันจาลี คาปูร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรข่าวประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook บอกว่า นอกจากใช้อัลกอริทึ่ม หรือ AI ในการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ยังใช้ “คน” เข้ามาช่วยด้วย โดยจับมือกับ AFP สำนักข่าวชื่อดัง ที่จะเข้ามาตรวจสอบทั้งเนื้อหา รูปภาพ และวิดีโอบนเฟซบุ๊ค แต่จะตรวจสอบเฉพาะที่มีการเปิดเป็นสาธารณะเท่านั้น
โดยที่ผ่านมานั้น Facebook ใช้ AI ปิดแอคเคาท์ไปได้ถึง 2.5 พันล้านแอคเคาท์ และพบว่ากว่า 65% เป็นแอคเคาท์ปลอม ซึ่งเป็นการตรวจสอบก่อนขั้นตอนตรวจสอบที่ใช้คน ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรด้านนี้ถึง 30,000 คนทั่วโลก
ส่วนขั้นตอนในการตรวจสอบข้อมูลของ Facebook เริ่มจากใช้อัลกอริทึ่ม หรือ AI ตรวจสอบเนื้อหาก่อน และข่าวที่รายงานเข้ามาจะใช้ AFP ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งเนื้อหา รูปภาพ หรือวิดีโออย่างละเอียด ถ้าพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ เฟซบุ๊กจะให้เรตติ้งน้อยลง ขณะเดียวกันเพจและเว็บไซต์ที่แชร์ข่าวปลอมจะถูกแจ้งเตือน หากทำซ้ำๆ อีก จะถูกลดการเผยแพร่เนื้อหา รวมถึงห้ามไม่ให้ใช้ฟีเจอร์การสร้างรายได้และโฆษณาด้วย
สำหรับผู้ใช้งานอย่างเราๆ Facebook ก็มีการแจ้งเตือนเหมือนกัน หากเรากำลังแชร์ข่าวปลอม รวมถึงแจ้งเตือนข่าวปลอมที่เคยแชร์ไปแล้วในอดีต และจะปรากฏลิงก์ข่าวของจริงขึ้นมาให้ดูด้านล่างควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ Facebook ยังมีฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมด้วย ทั้งวิธีการสังเกตข่าวปลอม facebook.com/help/spotfalsenews และวิธีการดำเนินการจัดการกับเรื่องราวที่คุณคิดว่าเป็นเท็จ