แฮกกาธอน สร้างสตาร์ทอัพพัฒนา เมืองอัจฉริยะอาเซียน

แฮกกาธอน สร้างสตาร์ทอัพพัฒนา เมืองอัจฉริยะอาเซียน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ผนึกบริษัท ฮับบา จำกัด และบริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด รวมถึง Techstars จัดโครงการพัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพอาเซียน ตอบโจทย์ตามแนวคิด “asean connectivity” สอดรับไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

สร้างนักรบ“เมืองอัจฉริยะ”

ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ดีป้า กล่าวว่า การแข่งขัน “อาเซียน สตาร์ทอัพ แฮกกาธอน” เป็นอีกหนึ่งในส่วนสำคัญของงาน “ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2019” ในการระดมความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยและอาเซียน โจทย์ที่ตั้งไว้นั้นคือ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เนื่องจากการที่จะทำให้สมาร์ทซิตี้เกิดขึ้นได้จำเป็นต้องหาโซลูชั่น จึงต้องพึ่งพากิจกรรมในรูปแบบแฮกกาธอน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด

157237024199

โครงการในปีนี้จึงต้องการสตาร์ทอัพที่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาและทำให้เมืองสมาร์ทมากขึ้น ด้วยโจทย์จากมาตรฐานการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของประเทศไทยทั้ง 7 ด้าน ซึ่งในครั้งนี้คัดเลือกมาเพียง 3 ด้านคือ 1. ด้านพลังงาน 2.คมนาคม และการอยู่อาศัย โดยแต่ละทีมจะมีสมาชิก 4-6 คนจากหลากหลายด้าน และไม่จำกัดสัญชาติ

สมาร์ทซิตี้ในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 10 เมือง และกำลังจะขยายเป็น 30 เมือง ฉะนั้น โซลูชั่นจากเวทีครั้งนี้จะถูกนำไปประกอบใช้และทำซ้ำ จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้สตาร์ทอัพเจ้าของนวัตกรรมเติบโตได้อีกด้วย ทางดีป้าเองได้มีบทบาทในการพัฒนาเมือง โดยดูแลเรื่องของแผนการส่งเสริมสมาร์ทซิตี้

“เราก็จะเห็นดีมานด์ และมีการเชื่อมต่อกับบริษัทพัฒนาเมือง ซึ่งเอกชนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนโครงการ เราจึงพยายามเชื่อมฝั่งดีมานด์ที่เป็นผู้ใช้ และสตาร์ทอัพที่เป็นซัพพลายด้วยการนำโซลูชั่นมาผนวกจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ๆ”

ในอนาคตภาครัฐไม่ต้องพัฒนาโซลูชั่นหรือนวัตกรรมอีกต่อไป แต่จะเป็นฝั่งเอกชนและสตาร์ทอัพที่พัฒนา รัฐมีหน้าที่เพียงแค่อำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการใช้งานร่วมกัน เพื่อสอดรับกับเป้าหมายที่ต้องการจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างโอกาสแก่ประชาชนในการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Hub)

โจทย์แฮกกาธอนสู่ใช้จริง

157237018853

“อาเซียน สตาร์ทอัพ แฮกกาธอน” เวทีประชันไอเดียของนักพัฒนาสู่ “เมืองอัจฉริยะอาเซียน” ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเมือง โดยมุ่งเน้นนวัตกรรมด้านพลังงาน คมนาคมและการอยู่อาศัย เฟ้นหา 1 เดียวจากผู้เข้ารอบ 20 ทีม ชิงเงินรางวัล 4 แสนบาท พร้อมดันโซลูชั่นสู่การใช้งานจริง หวังเชื่อมสตาร์ทอัพ-ภาคธุรกิจทั้งในและตลาดต่างประเทศ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผนึกกำลังพันธมิตร อย่างบริษัท ฮับบา จำกัด และบริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด รวมถึง Techstars จัดโครงการพัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพอาเซียน ตอบโจทย์ตามแนวคิด “asean connectivity” สอดรับไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเร็วๆ นี้

กิจกรรมแฮกกาธอนครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสตาร์ทอัพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเนปาล รวม 65 ทีมที่มีไอเดียโซลูชั่น สินค้าหรือบริการต้นแบบ อาทิ นวัตกรรมการจัดการน้ำเสีย ทั้งนี้ได้คัดเลือกเหลือเพียง 20 ทีมสุดท้าย ที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมเวิร์คช็อปโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ก่อนเข้าสู่การประชันไอเดียรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 31 ต.ค.นี้

ทีมที่มีศักยภาพก็จะต่อยอดเข้าสู่โครงการ Depa Accelerator Program โดยจะนำสตาร์ทอัพไปพบกับเมืองที่เป็นลูกค้าโดยตรงเพื่อสร้างโซลูชั่นมาตอบสนอง พร้อมรับทุนอุดหนุน 6 แสนบาท ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสไปสู่พาร์ทเนอร์ตลาดต่างประเทศอีกด้วย

ปั้นสมาร์ทซิตี้สตาร์ทอัพ

157237015655

อมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮับบา จำกัด กล่าวว่า โจทย์ในปีนี้คือเรื่องของสมาร์ทซิตี้ ซึ่งอนาคตอีก 30 ปี ทั่วโลกจะมีประชากรประมาณ 9,800 ล้านคน โดย 2 ใน 3 จะอยู่ในพื้นที่เมือง คิดเป็น 68% ขณะที่เมืองที่มีอยู่แล้วไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การจัดเก็บขยะ การเดินทาง การใช้พลังงาน ความปลอดภัย หรือความเป็นอยู่


หากภาครัฐต้องการที่จะสร้างเมืองใหม่ เพียงแค่ภาครัฐฝ่ายเดียวก็อาจจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ไม่ทั่วถึง จึงต้องเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้วได้ลองใช้วิธีของสตาร์ทอัพในการแก้ปัญหา เพราะสมาร์ทซิตี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน และสตาร์ทอัพนั้นถือเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ได้ค่อนข้างมากเพราะเข้าใจเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งเวทีและจุดเริ่มต้นในการเพิ่มศักยภาพให้แก่สตาร์ทอัพหน้าใหม่


“เราเชื่อว่ายังมีโอกาสและช่องว่างอีกมากในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยตอบโจทย์สมาร์ทซิตี้ และก็เชื่อว่าแฮกกาธอนครั้งนี้จะพร้อมตอบโจทย์ทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการเติบโตของสตาร์ทอัพ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของฮับบาในการช่วยสร้างระบบนิเวศและเชื่อมต่อเครือข่ายจากทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง” อมฤต กล่าว