เศรษฐกิจดิจิทัลไทยโตเกินคาด กูเกิลชี้ปี 68 ทะลุ "5หมื่นล.ดอลล์"

เศรษฐกิจดิจิทัลไทยโตเกินคาด กูเกิลชี้ปี 68 ทะลุ "5หมื่นล.ดอลล์"

“กูเกิล-เทมาเส็ก” เปิดผลวิจัยล่าสุด คาดปี 2568 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยโตทะลุ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เกินกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปีก่อนหน้า รับปัจจัยบวกอีคอมเมิร์ซ-บริการเรียกรถผ่านแอพโตแรง

รัฐบาลในอาเซียนมุ่งดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคอาเซียน นับเป็นตลาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ทั้งในแง่จำนวนประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน และตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ สะท้อนผ่านมูลค่าเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 72 ล้านดอลลาร์ ขยับขึ้น 2 เท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2558

ขณะที่ รัฐบาลหลายประเทศในอาเซียน กำลังเดินหน้าสู่การพาณิชย์ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายว่าจะเพิ่มมูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ ประเทศไทยเองก็มีนโยบายด้านดิจิทัลเพื่อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเปิดบริการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลในชื่อ “บริการพร้อมเพย์” ส่วนเวียดนาม รัฐบาลประกาศแผนไว้ตั้งแต่ปี 2559 ว่าจะเพิ่มปริมาณธุรกรรมอี-คอมเมิร์ซ ภายใน 4 ปี

สิงเทล มายบิสสิเนส ประมวลสถานการณ์อีคอมเมิร์ซในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้หลักๆ คือ 1.เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของอาเซียน เติบโตในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และคาดว่าจะทะลุหลัก 2 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2568 2.สัดส่วนการใช้มือถือต่อจำนวนประชากร กระตุ้นยอดการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ โดยมีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ มาตั้งแต่ปี 2560 3.สิงคโปร์ เป็นประเทศอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียนที่มีปริมาณการซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตสูงสุด และยังมีแนวโน้มโตเป็นแบบนี้ต่อเนื่องอีก 3 ปีข้างหน้า

3.แม้มีทางเลือกในการชำระเงินที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงบริการฟินเทค แต่รูปแบบการเก็บเงินปลายทาง (Cash-on-delivery : COD) ยังได้รับความนิยมมากสุดถึง 80% 4.การซื้อสินค้ามูลค่าสูงๆ ทางออนไลน์ ยังนิยมทำธุรกรรมผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มากกว่าบนโทรศัพท์มือถือ 

ขณะที่ ในแง่ปริมาณ(ครั้ง)การทำธุรกรรมเกิดบนช่องทางมือถือมากกว่า คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 และ 5.ธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ นิยมใช้บริการจากแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการที่มีอยู่แล้วในตลาด ซึ่งสามารถสนับสนุนด้านเครื่องมือ และเสนอบริการเพิ่มมูลค่าเพื่อช่วยเพิ่มฐานลูกค้า และกระตุ้นยอดขาย

บริการธนาคารออนไลน์โต

ขณะที่ รายงานวิจัยที่จัดทำร่วมกันระหว่างเบน แอนด์ โค กูเกิล และเทมาเส็ก คาดการณ์ด้วยว่า ธุรกิจบริการธนาคารทางออนไลน์ในอาเซียนอาจสร้างรายได้มากถึง 38,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 โดยได้แรงหนุนจากผู้ที่ยังไม่เปิดบัญชีกับธนาคารจำนวน 98 ล้านคนใน 6 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอาเซียน

แพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค เช่น แกร็บ หรือ โกเจ็ก ล้วนมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่นิยมใช้บริการหลากหลายรูปแบบของบริษัทเหล่านี้เพิ่มขึ้น และช่วง 6ปีข้างหน้า รายได้จากธุรกิจให้บริการทางการเงินออนไลน์ในภูมิภาคนี้อาจจะเติบโตถึง 60,000 ล้านดอลลาร์ หากยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับและมีกฏระเบียบที่มีประสิทธิภาพออกมารองรับ

หากทุกอย่างเป็นจริงตามที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2568 เท่ากับธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตระหว่าง 245% และ 445%จากรายได้จากธุรกิจบริการในส่วนนี้ในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 11,000 ล้านดอลลาร์โดยมีธุรกิจขนาดเล็กและผู้บริโภคเป็นแรงขับเคลื่อนหลักทำให้ธุรกิจบริการในส่วนนี้ขยายตัว