วว.โชว์เคส โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ ผลสำเร็จตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน

วว.โชว์เคส โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ ผลสำเร็จตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน

วว.โชว์ Success case โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ ผลสำเร็จการดำเนินงาน เศรษฐกิจหมุนเวียน ตามนโยบาย BCG Model จากโครงการนำวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรฯ จ.กาญจนบุรี  สร้างมูลค่าทางธุรกิจกว่า 1 ลบ.ต่อเดือน

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ แนวคิดการนำทรัพยากรที่ถูกใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น จากการขยายตัวของประชากรโลกและปัญหาการจัดการขยะ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งดำเนินงานภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สร้างมูลค่าเพิ่ม value added และ value creation เป็นฟันเฟืองสำคัญในการวิจัยพัฒนา ต่อยอด คัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างรายได้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการและประเทศ ผ่านการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต สู่การนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์

157348111571

    โดยทั่วไปการนำวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรมาทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น มี 4 รูปแบบ ดังนี้ 1.) อาหารสัตว์  เช่น การใช้ฟางข้าวและเปลือกสับปะรดเป็นอาหารปศุสัตว์ 2.) เชื้อเพลิง เช่น การใช้แกลบ ชานอ้อยและเศษวัสดุต่างๆ เป็นเชื้อเพลิงในโรงสี  โรงงานน้ำตาล และโรงงานอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ 3.) ปุ๋ยอินทรีย์  เช่น การไถกลบเศษพืชลงดินและการใช้น้ำกากส่าเป็นปุ๋ยในนาข้าว และ 4.) วัตถุดิบในการผลิต   เช่น การนำมาใช้เลี้ยงเชื้อราเพื่อผลิตเอนไซม์  การนำฟางข้าวมาใช้ในการเพาะเห็ด

นายสายันต์  ตันพานิช  รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ  วว. กล่าวว่า วว.ให้ความสำคัญในการดำเนินงานบริหารจัดการ Circular Economy ที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้ได้จริง โดย โครงการการนำวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรมาทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Waste Utilization)  ที่ วว. นำลงไปปฏิบัติและบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตรและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตัวอย่างความสำเร็จของ วว. ในการดำเนินงานด้านนี้ ในเชิงพื้นที่ เนื่องจากจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศและมีปริมาณของวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตจากโรงงานอ้อยจำนวนมาก ในรูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝึกอบรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ มีรายงานการผลิตอ้อยของประเทศไทย ประจำปีการผลิต 2560/61 ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 11,542,550 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2559/60 จำนวน 554,061 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยภาคเหนือ 2,719,424 ไร่ ภาคกลาง 3,118,925 ไร่  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,044,952 ไร่ และภาคตะวันออก 659,249 ไร่ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ นครสวรรค์ 798,745 ไร่ กำแพงเพชร 798,077 ไร่ และกาญจนบุรี 753,424 ไร่ (อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม)

จากการดำเนินงานโครงการฯ ของ วว. ได้นำวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอ้อย คือ กากหม้อกรอง ซึ่งมีปริมาณ 3 แสนตัน/ปี   (คิดเป็น 5% ของอ้อยสดในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีที่มีกว่า 6 ล้านตัน/ปี)  นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการและกำจัดในส่วนของโรงงาน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับเกษตรกรได้อีกด้วย

“... หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ ผู้ประกอบการในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี  เป็น Success Case อีกแห่งหนึ่ง ที่เป็นความสำเร็จของ  วว. ในการนำ วทน. เข้าไปเสริมศักยภาพ พัฒนาสูตรปุ๋ยอินทรีย์จากกากหม้อกรองโรงงานน้ำตาล จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ธุรกิจกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน   จากกำลังการผลิต 1,000 ตันต่อวัน  นับเป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินงานด้าน Circular  Economy  ของ วว. ที่สอดคล้องกับนโยบายระบบเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล  BCG   Model   (การบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจใน  3  มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ B- Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ C-Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G-Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว) ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของจังหวัด ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้สามารถนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆในโรงงานน้ำตาลได้ อาทิ จังหวัดสุพรรณบุรี  กำแพงเพชร  อุดรธานี นครสวรรค์ และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆได้เช่นกัน อาทิ โรงงานสับปะรดกระป๋อง  ซึ่งมีวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต เช่น เปลือก และใบ ที่สามารถนำ วทน. เข้าไปเพิ่มมูลค่าได้ ทั้งนี้ วว. จะคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการประกอบการนั้นๆ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งได้สูงที่สุด..” นายสายันต์ ตันพานิช  กล่าว

157348113919

ความสำเร็จในการดำเนินงานด้าน Circular Economy ดังกล่าวข้างต้นของ วว. ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นผลเด่นชัดในแง่การนำ วทน. เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งในภาคชุมชน ผู้ประกอบการ และในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้ วว. มีผลดำเนินงานขอบข่ายนี้ในแขนงอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งจะนำมาบอกเล่าในวงกว้างในโอกาสต่อไป เพื่อร่วมผลักดันนโยบาย BCG Model ให้สำเร็จ เป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ผู้สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยอินทรีย์หรือขอรับคำแนะนำปรึกษาด้าน Circular Economy จาก วว. สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 02577 9000, 0 2577 9300 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail :tistr@tistr Line@tistr  และติดต่อ หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ ได้ที่ โทร.034 552 553 และ 034 552 633

อย่างไรก็ตาม ในความสำเร็จของ หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ นั้น เส้นทางการดำเนินธุรกิจแรกเริ่มของผู้ประกอบการรายนี้ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ได้ผ่านการลองผิดลองถูก ผนวกกับความตั้งใจจริงในการประกอบอาชีพ เปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุงให้การประกอบธุรกิจมีความมั่นคงยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะการเข้ารับการอบรมหลักสูตรการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จาก วว. ในปี พ.ศ. 2542 ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายนี้ประสบผลสำเร็จในการประกอบธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่าย ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างเต็มรูปแบบ ก้าวข้ามจากธุรกิจเล็กๆที่มีลูกน้องเพียง 2 คน สู่ธุรกิจที่มีมูลค่าผลประกอบการกว่า 200 ล้านบาท และมีลูกน้องกว่า 100 ชีวิต ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จำหน่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในปัจจุบัน 

“…เดิมทีผมทำอาชีพขายยาเส้นและรับจ้างส่งปุ๋ยทั่วไป จากนั้นเห็นว่าธุรกิจขายปุ๋ยมีรายได้ดี ก็เลยลองผิดลองถูกผลิตปุ๋ยจำหน่ายเอง โดยใช้วัตถุดิบจากมูลสัตว์ แต่สุดท้ายด้วยเราขาดความรู้และหลักวิชาการที่ถูกต้อง ทำให้ธุรกิจลุ่มๆดอนๆ จนกระทั่งได้มาพบคุณสุนทร  ดุริยะประพันธ์ และทีมนักวิจัยจาก วว. ได้มาแนะนำโครงการและชวนเข้ารับการอบรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้วัตถุดิบจากของเหลือทิ้งทางการเกษตร ในตอนนั้นจะใช้วัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานเยื่อกระดาษและโรงงานน้ำตาลมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ย จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่ผมและ วว.ได้ทำงานร่วมกัน   ปัจจุบันโรงงานเราจะใช้วัตถุดิบจากโรงงานน้ำตาลคือ กากจากหม้อกรอง เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่ง วว.ได้ช่วยพัฒนาสูตร ให้คำชี้แนะ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งโรงงานเราผ่านการรับรองมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์  จากกรมวิชาการเกษตร  ทำให้ธุรกิจได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าและมีความมั่นคง…” นายประยงค์ เยื่อแม้นพงศ์  หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ กล่าว

157348117237

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ของ หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ ได้รับการตอบรับและมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น แม้นว่าผู้ประกอบการรายนี้จะไม่มี พนักงานขายโดยตรง แต่ผลประกอบการมีความมั่นคง ด้วยกลุ่มลูกค้ามีความเชื่อมั่นในคุณภาพปุ๋ย ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูง ช่วยปรับสภาพดิน  สามารถใช้ได้กับพืชเกษตรทุกชนิด โดยมีอัตราการใช้ปุ๋ยประมาณ 50 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งมีหน่วยงานภาครัฐคือ วว. ร่วมเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จ (Partner  for your  Success) จึงเป็นสูตรสำเร็จหนึ่งในการดำเนินธุรกิจของวงการเกษตร ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ

“…ผมพร้อมให้คำชี้แนะแก่ผู้สนใจที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจนี้  ที่สำคัญคือท่านต้องมีความตั้งใจจริง ต้องอึด อดทน ตอนที่ผมร่วมทำกับ วว. ในช่วงแรกๆ นั้น ผมกินนอนอยู่ที่โรงงานเลย แต่เมื่อผ่านจุดนั้นมาได้เราก็จะภาคภูมิใจครับ ในอนาคตเราจะขยายธุรกิจให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเกษตรมากขึ้น  อีกประเภท  คือ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เป็นต้น โดยมี วว.เป็นพี่เลี้ยงให้คำชี้แนะและก้าวไปพร้อมๆกัน…”  นายประยงค์ เยื่อแม้นพงศ์   กล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จและเป้าหมายอนาคตของธุรกิจ