YA’KAW’VAN พลิกผ้าทอมือ กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ สู่แฟชั่นหรูหรา
สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ ดีไซเนอร์ร่วมสมัยพาไปทำความรู้จักแบรนด์ YA’KAW’VAN ที่สร้างความภูมิใจให้กับชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ เมื่อลวดลายบนผ้าทอมือได้ปรากฏบนผลิตภัณฑ์สิ่งของเครื่องใช้ของคนกรุง
หลายท่านอาจคิดว่า หน้าที่หลักของงานออกแบบคือการทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม น่าใช้ ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ผิด แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด สำหรับ จันทร์นิล คารมาการ ผู้ก่อตั้ง และนักออกแบบภายใต้แบรนด์ YA’KAW’VAN ให้นิยามการออกแบบไว้อย่างน่าสนใจว่า การออกแบบคือ การตอบสนองการใช้งานเป็นปัจจัยหลัก โดยพยายามเข้าไปแก้ปัญหาที่ผู้บริโภคพบเจอเมื่อใช้สินค้าอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน พร้อมกับสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับแบรนด์ด้วยการใช้ดีไซน์ของผ้าทอมือมาผสมผสานกับผลิตภัณฑ์อย่างลงตัว ดูสวยงาม และมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นจะต้องมีส่วนช่วยสร้างบุคลิกภาพที่หรูหราให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี
ด้วยใจที่หลงรักในงานศิลปะและการออกแบบ แต่ความเป็นอยู่ที่ยากจน ทำให้ จันทร์นิล หญิงชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในหมู่บ้านกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ต้องต่อสู้ดิ้นรนหางานทำในกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสียตัวเองให้เรียนสูงขึ้น และสถาบันการออกแบบไพลินเวิรล์ดแฟชั่น (PWFA) คือสถานที่บ่มเพราะเมล็ดพันธุ์สร้างสรรค์ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้เริ่มทดลองผสมผสานผ้าทอมือจากเครื่องนุ่งห่มของหมู่บ้านให้เข้ากับแฟชั่นสมัยใหม่ และเป็นที่ที่ทำให้เธอสร้างแบรนด์ YA’KAW’VAN แบรนด์ที่จันทร์นิลอยากให้ชาวกะเหรี่ยงภาคภูมิใจ
นอกจากลวดลายการทอที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นแล้ว เธอใช้เทคนิคการย้อมสีเส้นด้ายโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่าการย้อมผ้าทั่วไปหลายเท่า แต่ให้สีด้ายที่สดใหม่ และสีไม่ตก ด้ายทุกเส้นจะผ่านกระบวนการทอมือซึ่งจะมีความหนาแน่นของเนื้อผ้าสูงกว่าการทอด้วยเครื่องจักร ทำให้ผ้าไม่ลุ่ย และมีความทนทานสูงมาก
เช่น ผ้าทอลาย “ตา-ลู่-ตา-แอะ” (หุบเขาแห่งความรัก) ความสวยงามของธรรมชาติที่สื่อถึงความรักที่สวยงามและบริสุทธิ์ ถูกนำมาใช้เป็นลวดลายบนกระเป๋าเงิน หรือ ผ้าทอลาย “ที-ลอ-ซัว” (สายน้ำ) สื่อถึงความมั่นคงที่ไม่เคยหยุดหย่อนเพื่อให้สิ่งที่ตั้งใจไว้ประสบความสำเร็จ ถูกนำมาใช้เป็นลวดลายบนกระเป๋าธนบัตร เป็นต้น
นอกจากวัสดุหลักที่เป็นผ้าทอมือแล้ว เธอยังนำหนังมาเสริมเป็นโครงสร้างของกระเป๋าให้มีความสวยงามด้วย ที่สำคัญเธอยังสร้างอาชีพกลับคืนสู่บ้านเกิดด้วยการให้ชาวบ้านเป็นผู้ทอผ้าผ่านการใช้ท่อนไม้ (ตาเบอะ) ซึ่งเป็นทักษะติดตัวของชาวบ้านทุกคน ช่วยให้ชุมชนเติบโต และมีรายได้อย่างมั่นคงตลอดเวลา
อีกหนึ่งแนวคิดดีๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลงใหลด้านงานออกแบบ สู่การสร้างอัตลักษณ์บนผลิตภัณฑ์ผ่านผ้าทอของชาว กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ เพื่อให้คนทั่วโลกได้รู้จัก รายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดจำหน่ายจะถูกกลับไปเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กกะเหรี่ยงด้วย... YA’KAW’VAN แบรนด์ดี ๆ แบบนี้น่าชื่นชมครับ