รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง อวดเทคโนโลยีการแพทย์เฉพาะบุคคล เร่งสปีดสู่ศูนย์แพทย์พรีเมียม
รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง ขานรับเฮลท์แคร์ 4.0 สร้างมิติใหม่แห่งการรักษาภายใต้คอนเซปต์การดูแลสุขภาพเฉพาะรายบุคคลผ่านเทคโนโลยีเฉพาะทาง ตั้งเป้าสู่ศูนย์แพทย์พรีเมียม
เทคโนโลยีอนาคตเพื่อสุขภาพ
รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง ในเครือ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ หรือ THG เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา แก่คนไทย ชาวต่างชาติและกลุ่ม Medical Tourism (ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) จำนวนเตียงให้บริการ 47 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยได้กว่า 120 คนต่อวัน เน้นใช้เทคโนโลยีการรักษาและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย โดยเป็นสถานพยาบาลแห่งเดียวในไทยที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้วิเคราะห์อาการผู้ป่วย
ในการสัมมนาหัวข้อ The Future of Health Tech ภายในงาน “OllO” Thailand Techland 2019 นำเสนอตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์โดย รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง เริ่มจากแผนกศัลยกรรมความงาม แพทย์หญิงวริศรา ตันยิ่งยง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง กล่าวว่า ได้นำเทคโนโลยี AR/ VR เป็นการจำลองภาพเสมือนจริงเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างคนไข้กับแพทย์ ทำให้การทำงานของแพทย์สะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เครื่องมือที่นิยมใช้ช่วยในการวินิจฉัยคือ Dermoscopy กล้องขนาดเล็กที่สะดวกพกพา แพทย์สามารถใช้ส่องรอยโรคที่บริเวณผิวหนังของคนไข้ เป็นเครื่องที่มีกำลังขยายสูงดูเรื่องของเม็ดสีว่าปกติหรือไม่ หรืออาจจะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ อีกทั้งกล้อง Confocal microscopy เป็นกล้องที่มีขนาดใหญ่ใช้หลักการของเลเซอร์เข้าไปสแกนในผิวหนัง เทคโนโลยีนี้สามารถเห็นภาพและตรวจการในขณะนั้นได้
"นวัตกรรมทางด้านผิวหนังและความงาม ที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง คือ AR/VR ทำให้การทำงานของแพทย์ไม่ต้องจำกัดอยู่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น ช่วยให้บริการทางการแพทย์มีความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น" พญ.วริศรา ตันยิ่งยง
เอไอ เพิ่มประสิทธิภาพทันตกรรม
ทางด้าน ทันตแพทย์ วรวีร์ เหล่าวรวิทย์ แผนกทันตกรรมทั่วไปและทันตกรรมรากเทียม กล่าวว่า Digital Dental Center ในวงการทันตกรรมมันมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมาก อาทิ เครื่องสแกนช่องปาก 3 มิติ Intraoral Scanner แทนการพิมพ์ปากแบบปกติเป็นลักษณะของกล้องเข้าไปถ่ายในช่องปาก เชื่อมต่อภาพเล็กๆ เข้าด้วยกันด้วยการพิมพ์ปากผ่านการถ่ายรูป รวมถึงในอนาคตมีการพัฒนา face scanner ช่วยวางแผนการรักษาหรือออกแบบรอยยิ้ม
การใช้เครื่องเอกซเรย์บริเวณใบหน้า 3D X-ray ทำให้เห็นความกว้างความยาวความลึกของฟัน รวมถึงกระดูกขากรรไกร อีกทั้งมีการพิมพ์เป็นสไลด์เพื่อดูลักษณะภายในได้อย่างทั่วถึง จึงวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการทำครอบฟันที่ใช้เวลานานและหลายครั้งแต่ปัจจุบันสามารถทำให้เหลือเพียงครั้งเดียว One day crown โดยสแกนดีไซน์ในระบบคอมพิวเตอร์ กลึงชิ้นงานออกมาในโลกความเป็นจริงโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ มีคุณภาพเทียบเท่ากับการผลิตแม่แบบทั่วไป
รวมถึงการฟังรากฟันเทียมที่ใช้เทคโนโลยีจากคอมพิวเตอร์ Guided implant surgery ช่วยการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม เช่น บริเวณที่มีเส้นประสาท จะช่วยควบคุมการผ่าตัดให้มีความแม่นยำสูง เพิ่มความปลอดภัยให้กับคนไข้
"วงการทันตกรรมมีการเปลี่ยนแปลงมาก ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา โดยเทคโนโลยีที่มาแรง คือ เครื่องถ่ายรูปหรือสแกนช่องปาก, เอ็กซเรย์ 3 มิติ, การทำครอบฟันในวันเดียว และการฝังรากฟันเทียมด้วยคอมพิวเตอร์ ลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย มีความแม่นยำมากขึ้น ทันตแพทย์ทำงานสะดวกขึ้น และเป็นมิตรกับคนไข้มากขึ้น" ทพ.วรวีร์ เหล่าวรวิทย์
ทารกแห่งศตวรรษใหม่
ชนาวีร์ รัตนาจารย์ ผู้จัดการห้องปฏิบัติการทางพันธุศาสตร์ กล่าวว่า Human Genome Project คือโปรเจคถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลแบบเปิดซึ่งมีการพัฒนาต่อยอดและใช้ประโยชน์ในวงกว้างอย่างมากมาย ล่าสุดคือ Next Generation Sequencing (NGS) เทคโนโลยีที่หาลำดับของสารพันธุรกรรมที่รู้ผลในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ นอกจากนำไปใช้มนุษย์แล้วยังไปใช้กับสิ่งมีชีวิตทั่วไป พืช แบคทีเรีย ไวรัส
เช่นเดียวกับเทคโนโลยีช่วยผู้มีบุตรยาก หรือ In Vitro Fertilization (IVF) ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากข้อมูลรหัสพันธุกรรม โดยการตรวจคัดกรองสารพันธุกรรมโดยละเอียดเพื่อให้รู้ถึงสาเหตุของปัญหาการมีบุตรยากที่แท้จริง สำหรับการแก้ไขที่ตรงจุด พบว่า อัตราการตั้งครรภ์ของผู้มีบุตรยากเพิ่มขึ้นถึง 69.1% จากเดิม 47.1%
"นวัตกรรมเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก ช่วยเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุด ทำให้การตั้งครรภ์สำเร็จ ซึ่งหมายถึงทำให้คู่สมรสวางแผนครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์" ชนาวีร์ รัตนาจารย์
ส่วนแพทย์หญิง กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ wellness Center กล่าวว่า ธนบุรีบำรุงเมืองพยายามนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในทุกส่วนงานบริการ เพื่อความสะดวกของผู้มาใช้บริการ เช่น Microbiome สำหรับตรวจตัวอย่างอุจจาระที่รู้ผลเร็วว่า มีความเสี่ยงต่อโรคอะไรบ้างตลอดจนข้อมูลสารพันธุรกรรม ส่งผลให้แพทย์เข้าใจคนไข้ได้เร็วขึ้นและตอบโจทย์การดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ