'อินไซท์ฯ' ผู้ช่วยไฮเทคตรวจคุณภาพผลไม้-อาหาร จากวิจัย 10 ปีสู่การใช้จริง

'อินไซท์ฯ' ผู้ช่วยไฮเทคตรวจคุณภาพผลไม้-อาหาร จากวิจัย 10 ปีสู่การใช้จริง

สตาร์ทอัพสายฟู้ดเทค "อินไซท์" ดึงงานวิจัย 10 ปี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ ได้รับสนับสนุนจากโครงการสเปซ-เอฟ (Space-F) บิ๊กโปรแกรมปั้นนวัตกรรมทางอาหารระดับโลกแห่งแรกของไทย

“เครื่องสแกนข้อมูลอาหารและผลไม้แบบพกพา” ด้วยเทคโนโลยีอินฟราเรดย่านใกล้ระบบ (Near Infrared, NIR) เป็นหนึ่งในเทคนิคการตรวจสอบโดยไม่ทําลายวัตถุตัวอย่างช่วยประเมินคุณภาพผลผลิตของเกษตรกร ตั้งเป้าลดความเสี่ยงในการส่งออกผลผลิตที่ไม่ได้ตามเกณฑ์ ป้องกันการตีกลับ ลดระยะเวลาในการตรวจสอบ ลดต้นทุน มาตรฐานใหม่ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า

สแกนคุณภาพก่อนส่งออก

ศานติสุข ศรีสุข Co-Founder บริษัท อินไซท์ไบโอโฟโทนิคส์ จํากัด กล่าวว่า จากการที่เห็นปัญหาในการตรวจสอบคุณภาพอาหารและผลิตผลทางการเกษตรที่มีความล่าช้า ไม่เที่ยงตรง ทั้งยังมีต้นทุนสูง ทําให้เกษตรกรได้รับความไม่เป็นธรรมจากการซื้อขายกับพ่อค้าคนกลางเกิดการกดราคาจากการวัดที่ไม่ได้มาตรฐาน ด้วยการดูเพียงลักษณะทางกายภาพ

อินไซท์ฯ จึงนําผลงานวิจัยของผศ.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ และทีมงานห้องปฏิบัติการ Near Infrared ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร วิทยาเขตกําแพงแสน ที่มีการวิจัยมากว่า 10 ปี จนสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เมื่อไม่เดือนที่ผ่านมาโดยใช้งบลงทุนวิจัยหลัก แสนบาท

วิธีการทํางานของเครื่องเริ่มจากการยิงรังสีผ่านเข้าไปในผลผลิตเพื่อดูโมเลกุลของวัตถุนั้นๆ สแกนและวิเคราะห์ส่วนประกอบทางชีวเคมีต่างๆ แล้วแปลงค่าเป็นดาต้าส่งผ่านบูทูธสามารถอ่านค่าบนสมาร์ทโฟนได้อย่างรวดเร็วเพียง 8 วินาที ผลตรวจแม่นยําสูงสุดถึง 99% ทั้งค่าความชื้นในอาหาร ปริมาณโปรตีนในปลา น้ําตาลในมะม่วง เปอร์เซ็นต์แป้งของมันสําปะหลัหรือธาตุอาหารต่างๆ

“ชนิดของอาหารและผลไม้ที่ผ่านการทดสอบเช่นพืช แอปเปิ้ล ทุเรียน มะละกอ เมล่อน มะพร้าว ส้ม สับปะรด การปนเปื้อนพันธุ์ข้าวอื่นในถุง ว่ามีกี่สายพันธุ์ คุณภาพน้ํายางพาราคาความหวานในอ้อย ความชื้นในดินความสดใหม่ของไข่ไก่และน้ํานมดิบ ปลาทูน่า มันสําปะหลังและปาล์มน้ํามันดู ปริมาณน้ํามันในผล โดยการปรับฟังก์ชันให้ตรงกับชนิดของวัตถุตัวอย่าง

157469221235

ยกตัวอย่างการนําร่องใช้กับโรงงานแปรรูปมันสําปะหลัง เพื่อดูค่าแป้ง และความชื้น จากเดิมต้องนำไปอบแห้ง 3 ชั่วโมงจึงจะทำการวัดได้ แต่เครื่องนี้สามารถตรวจสอบได้ทันที ก็จะช่วยทำให้ประหยัดเวลาและพลังงานในการอบแห้ง 

นวัตกรรมนี้สามารถช่วยควบคุมคุณภาพของอาหารในระดับโมเลกุล ทำให้ชาวสวนที่ปลูกพืชผลสามารถตรวจสอบการเจริญเติบโตของพืชผลนั้นๆได้ตลอดเวลา ส่งผลให้การซื้อขายพืชผลทางการเกษตรนั้นมีความยุติธรรมในมาตรฐานราคาได้

ทั้งนี้อินไซท์ฯตั้งเป้าที่จะขยายชนิดของผลไม้ในการตรวจสอบ อีกทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องสแกนตรวจสอบดินที่สามารถบอกแร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์ผ่านการใช้หัววัดปักลงไปในดินช่วยให้เกษตรกรสามารถดูแลดินได้อย่างถูกต้องและประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ย

"เป้าหมายของเราคือ ช่วยให้ผู้ผลิตอาหารและเกษตรกรยุคใหม่เพิ่มผลผลิตและคุณภาพได้ดีกว่าเดิมเราอยากจะก้าวมาเป็น มาตรฐานใหม่ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า”

157469223312

“สเปซ-เอฟ" แม่ทัพใหญ่สตาร์ทอัพไทย

ก่อนหน้านี้ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ และมีหน้าจอแสดงผลทําให้ราคาของเครื่องสูง ต่อมาจึงได้พัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและเชื่อมต่อไร้สายกับสมาร์ทโฟน ทําให้สามารถลดค่าเครื่องได้ถึงหลักแสนบาท อีกทั้งเดิมต้องการจะขายในรูปแบบผลิตภัณฑ์แล้วจบไป แต่ได้ปรับเปลี่ยนโมเดลจําหน่ายให้ถูกลงเหลือเพียงเครื่องละ 5-8 หมื่นบาท ซึ่งรวมค่าซอฟต์แวร์และบริการหลังการขายตลอดระยะการใช้งาน หรือการให้บริการเป็นรายครั้งเริ่มต้นที่ 1,000 บาท แต่ละราคาก็จะแตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ อินไซท์ฯ เป็นสตาร์ทอัพในการบ่มเพาะของโครงการสเปซ-เอฟภายใต้ความร่วมมือของสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอบมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปและคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“ผมอยากจะเริ่มต้นกับมืออาชีพที่จะช่วยผลักดันงานวิจัยออกสู่ตลาด ทั้งทางธุรกิจนวัตกรรมการเชื่อมต่อกับนักลงทุน การขอทุนสนับสนุนต่างๆ หรือแม้กระทั่งเกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างสตาร์ทอัพภายในโครงการเพื่อต่อยอดสู่การเป็นพาร์ทเนอร์ในอนาคตที่จะส่งผลให้สามารถขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้เพราะนวัตกรรมนี้ถือเป็นส่วนสําคัญที่จะพัฒนาต่อยอดในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และสามารถยกระดับหลากหลายอุตสาหกรรมได้ในอนาคต” ศานติสุข กล่าว