‘พลาสติกชีวภาพ’ เอกชนร้องขอกลไกอุดหนุนจากรัฐ

 ‘พลาสติกชีวภาพ’ เอกชนร้องขอกลไกอุดหนุนจากรัฐ

สานต่อนโยบายงดใช้ถุงพลาสติก ดีเดย์ 1 ม.ค.2563 รัฐผนึกเอกชนเดินหน้าผลิตถุงพลาสติกจากมันสำปะหลังย่อยสลายได้ในดินภายใน 3 เดือน ต่อยอดผลสำเร็จ “ถุงขยะสำหรับเศษอาหาร” จากงานกาชาด

ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับใส่ขยะเศษอาหาร นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการพัฒนาตอบโจทย์ BCG Economy ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าหรือการประยุกต์ใช้งานและการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเกษตร เพื่อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิม มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ลดปริมาณถุงพลาสติก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ เอสเอ็มอีไทย และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

157599763229

เขม หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแนวคิดที่จะนำวัตถุดิบในมืออย่างแป้งมันสำปะหลัง ที่มีปริมาณการผลิตกว่า 4 แสนตันต่อปีทั้งจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกาและเอเชีย มาวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โครงการไอแทป เมื่อปีที่ผ่านมา

ไอแทปสนับสนุนเงินทุน 50% ของมูลค่าโครงการ ทำการวิจัยพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปร TAPIOPLAST พร้อมส่วนผสมของเม็ดพลาสติก PLA PBAT เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จนเกิดเป็นต้นแบบถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพรายแรกของไทย ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ผู้ใช้สามารถมั่นใจได้ว่า ถุงขยะสำหรับใส่ขยะเศษอาหารที่มีส่วนผสมของ TAPIOPLAST สามารถย่อยสลายทางชีวภาพ ไม่เหลือสิ่งตกค้างที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

“ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1% ของพลาสติกทั้งหมด และอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการผลิตถุงพลาสติกทั่วไป 2-3 เท่า และประสิทธิภาพในการใช้งาน ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันผลักดัน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ สร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันในระดับชาติ ทำให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน”

เขม กล่าวอีกว่า การพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ หากเพียงเอสเอ็มเอสรายเดียวอาจจะช่วยส่งเสริมการรับซื้อพืชผลจากเกษตรกรได้ไม่มากเท่าที่ควร จึงต้องอาศัยการผลักดันทุกภาคส่วนทั้งองค์กรขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งรัฐบาล ในการสนับสนุนพืชผลทางการเกษตรของไทยเพื่อให้การขับเคลื่อนนี้เป็นไปตามตามหลักการเศรษฐกิจแบบบีซีจีและจะเป็นส่วนช่วยในการลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง

157599767139

เจตสุดา จิรวุฒิวงศ์ชัย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ เอสเอ็มเอสฯ กล่าวว่า ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่ร่วมวิจัยกับเอ็มเทค ประกอบด้วย วัตถุดิบ 2 ส่วนคือ 1.วัตถุดิบพลาสติกเพื่อสร้างความแข็งแรงและยืดหยุ่นให้กับถุง ซึ่งวัตถุดิบที่ได้รับมาตรฐาน ASTM D6400 (สหรัฐ) หรือ EN 13432 (ยุโรป) แสดงถึงการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์สุดท้ายจากการย่อยสลายคือ คาร์บอนไดออกไซต์ น้ำและชีวมวล

2.วัตถุดิบเทอร์โมพลาสติกสตาร์ชเป็นพลาสติกชีวฐาน (Bio-based plastic) จัดอยู่ในกลุ่มที่มาจากธรรมชาติโดยตรงไม่เป็นพิษ ย่อยสลายได้โดยการฝังกลบ และหาใหม่ทดแทนได้โดยใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบเริ่มต้น ช่วยให้ถุงย่อยสลายได้ราคาถูกลง

วัตถุดิบสองส่วนนี้จะถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายในระดับโมเลกุล จึงไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติกหรือนาโนพลาสติก ความยากของการวิจัยอยู่ที่การนำเม็ดพลาสติก TAPIOPLAST PLA และ PBAT มาผสมให้เข้ากัน ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของเอ็มเทคเข้าช่วย ทั้งยังขยายผลให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ในการเป่าขึ้นรูปถุง

นวัตกรรมนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติก และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย

ร้องขอกลไกรัฐสนับสนุนผู้ผลิต

นฤศสัย มหฐิติรัฐ กรรมการบริหาร บมจ.ทานตะวันฯ กล่าวเสริมว่า บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ด้วยการตั้งเป้านำพลาสติกที่เหลือจากขบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% และริเริ่มผลักดันผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากกระบวนการผลิตดังกล่าวมาต่อยอดทางธุรกิจ ในส่วนของ Bio และ Green Economy


บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำวัตถุดิบที่ผลิตจากธรรมชาติ เช่น อ้อย และข้าวโพด มาใช้ผลิตสินค้าประเภทไบโอพลาสติกซึ่งรวมถึงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable Plastic) เช่น หลอด ถุงขยะ ถุงซิป ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีทั้งจำหน่ายทั้งต่างประเทศ 70% และในประเทศ 30%

1575997723100


อย่างไรก็ดี ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมนั้น ในฐานะภาคเอกชน ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับภาคเอกชน ขณะที่ทางผู้ซื้อได้รับมาตรการลดหย่อนภาษี 125% แต่ทางอุตสาหกรรมผู้ผลิตเองนั้นไม่ได้รับการลดหย่อนตรงส่วนนี้ จึงอยากให้มีมาตรการส่งเสริมทางด้านฝั่งผู้ผลิต

รวมถึงการส่งเสริมให้ห้างร้านใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้น และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ในข้อแตกต่างระหว่างพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ในระยะเวลาที่กำหนด (ประมาณ 180 วัน) ซึ่งแตกต่างกับพลาสติกอ๊อกโซ (OXO Plastic) ซึ่งเป็นพลาสติกที่แตกตัวไปสู่ขั้นไมโครพลาสติก ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

สานต่อนโยบายงดใช้ถุงพลาสติก ดีเดย์ 1 ม.ค.2563 รัฐผนึกเอกชนเดินหน้าผลิตถุงพลาสติกจากมันสำปะหลังย่อยสลายได้ในดินภายใน 3 เดือน ต่อยอดผลสำเร็จ “ถุงขยะสำหรับเศษอาหาร” จากงานกาชาด พร้อมชงกระทรวงคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือมาตรการทางภาษีช่วยผู้ประกอบการ ระบุต้นทุนการผลิตสูงกว่าพลาสติกปกติถึง 3 เท่า