สตาร์ทอัพรุ่นใหม่เปิดแผนธุรกิจ ‘โดรนเกษตร’
“เอไอพี สกายเทค” อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรส่งตรงจากแล็บวิศวกรรมการบินและอวกาศ ม.เกษตรฯ สู่เทคสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” (Young Technopreneur 2019)
“เอไอพี สกายเทค” อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร เสริมเทคโนโลยีช่วยบินอัจฉริยะและระบบวิเคราะห์ค่าดัชนีพรรณพืช สร้างความแตกต่างและประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่ง ส่งตรงจากแล็บวิศวกรรมการบินและอวกาศ ม.เกษตรฯ สู่เทคสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” (Young Technopreneur 2019)
เกษตรกรไทยประสบปัญหาความยากจนและหนี้สิน เนื่องจากรายได้ต่ำและต้นทุนหมดไปกับสารเคมีกำจัดแมลงศัตรู ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น หนอนกระทู้ในไร่ข้าวโพดที่สร้างปัญหาให้กับพื้นที่กว่า 2.9 แสนไร่ใน 42 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท อีกทั้งปัญหาจำนวนแรงงานในภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งยังมีค่าจ้างที่แพงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเกษตรสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่รวมปัญหาสุขภาพจากการสัมผัสพิษสารเคมีของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นกว่า 37% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ผู้ช่วยชาวนาลดศัตรูพืช
จากปัญหาจุดนี้ทำให้นิสิตภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ประกอบด้วย นรินทร์ ปั้นทอง วัชรพล วณิชชานนท์และณัฐภาส ธีรวงศธร ใช้ระยะเวลากว่า 2 ปีวิจัยและพัฒนา “เอไอพี สกายเทค -โดรนตรวจจับศัตรูพืชและฉีดพ่นยา” หลังจากมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับเกษตรกร
นรินทร์ กล่าวว่า เอไอพีสกายเทค (AIP Skytech) ติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ผ่านการพัฒนาให้เหมาะกับการให้บริการพืชแต่ละชนิดได้ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เสริมด้วยระบบวิเคราะห์ดัชนีความต่างพรรณพืช (NDVI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้บ่งบอกสถานะของแปลงเกษตร สำหรับตรวจวัดตำแหน่งแปลงเป้าหมายที่ต้องการฉีดพ่น โดยทำการบินด้วยระบบอัตโนมัติ จึงช่วยประหยัดเวลาและลดปริมาณการใช้สารฉีดพ่น 30-40% ทั้งยังช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร
“ปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้น เอไอพีสกายเทคจะช่วยปกป้องเกษตรกรจากการสัมผัสสารไม่พึงประสงค์โดยตรง และยังเว้นช่องว่างพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากสารเคมีได้อีกด้วย จึงลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการมีระยะเวลาฉีดพ่นที่ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดการสะสมของสารเคมีที่มีปริมาณมากเกินไป”
2 ฟังก์ชั่นเสริมแกร่งอุตฯเกษตร
วัชรพล กล่าวเสริมว่า เอไอพี สกายเทค มีอากาศยานไร้คนขับให้เลือกใช้บริการ 2 ชนิดคือ “โดรนปีก” บินสำรวจและส่งข้อมูลภาพจำนวนมากเพื่อการวิเคราะห์วางแผนการเพาะปลูก เช่น การสำรวจสุขภาพพื้นที่และติดตามการเจริญเติบโตของพืชด้วย NDVI ซึ่งสามารถระบุข้อมูลได้ว่า พืชบริเวณใดเติบโตได้ดี และบริเวณใดกำลังมีปัญหา
“ระยะความสูงของโดรนบินตรวจสอบประมาณ 50 เมตร จะให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำและชัดเจน ทำให้คาดการณ์ปริมาณปุ๋ยได้แม่นยำกว่าการนำภาพจากดาวเทียมมาวิเคราะห์ อีกทั้งบางพิกัดยังละเอียดมากกว่า จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาใช้วางแผนการจัดการแปลง สามารถที่จะปรับปริมาณการใช้ปุ๋ยหรือยากำจัดศัตรูพืชในแต่ละแปลงได้ตามการวิเคราะห์ NDVI ซึ่งในอนาคตสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นบริการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ในโมเดลการให้บริการถัดไปอีกด้วย”
อากาศยานไร้คนขับชนิดถัดมาอยู่ในรูปแบบ “เฮลิคอปเตอร์” ให้บริการฉีดพ่นสารน้ำต่างๆ มีประสิทธิภาพเร็วกว่าโดรน 30% เวลาบินสูงสุด 40 นาที ฉีดพ่นประมาณ 20-30 ไร่ต่อการบิน 1 ครั้ง และด้วยลักษณะใบพัดพิเศษและรูปทรงที่ดัดแปลงใหม่ จึงสามารถพ่นน้ำยาให้กระจายได้ฟุ้งกว่าปกติ ช่วยประหยัดการใช้สาร ส่วนขนาดถังบรรจุรับน้ำหนักได้สูงสุด 10 ลิตรต่อการขึ้นบิน 1 ครั้ง
“ที่ผ่านมา เกษตรกรจะใช้แรงงานคนในการฉีดพ่น และใช้ระยะเวลาการทำงานค่อนข้างนาน ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่นาหรือไร่ขนาดใหญ่หลายวันกว่าจะแล้วเสร็จ หากฉีดพ่นไม่ถูกวิธี ปริมาณมากหรือน้อยเกินไป ทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งยังเสี่ยงในการสัมผัสสารเคมีโดยตรงอีกด้วย”
ปี 64 เตรียมนำร่องนครปฐม
ตลาดโดรนในไทยอยู่ที่ 11.3% มูลค่ากว่า 9.58 พันล้านบาท ในปี 2560 พบว่าเกษตรกรใช้โดรนเพียง 1.87% และในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะเพิ่ม 8.68% ขณะที่กว่า 50% ของประเทศทำอาชีพเกษตรกรรม ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรในประเทศมีราวๆ 320 ล้านไร่
ทางทีม“เอไอพี สกายเทค” ขอเวลาในปี 2563 ทำการพัฒนาและทดสอบระบบให้มีความเสถียร จากนั้นปี 2564 จะเดินหน้าเชิงพาณิชย์ โดยวางกลุ่มเป้าหมายเป็นพืชไร่กว่า 31% ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ทางการเกษตร อีกทั้งโฟกัสภาคกลางเป็นอันดับแรก เนื่องจากสามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง
“เบื้องต้นได้เจรจาเพื่อเตรียมทดลองตลาดในพื้นที่ จ.นครปฐม กว่า 1 หมื่นไร่ คิดอัตราค่าบริการ 120 บาทต่อไร่ คาดว่าในปีแรกจะมีรายได้กว่า 1.2 ล้านบาทขณะที่งบลงทุน 8 ล้านบาท เป็นต้นทุนการผลิตโดรนฉีดพ่น 2.2 ล้านบาท การบริการจัดการ 5.3 ล้านบาท”
ส่วนรูปแบบของธุรกิจวางแผนขายเป็นแฟรนไชส์ และการให้บริการเป็นรายครั้ง สำหรับตลาดเป้าหมายคือ B2C เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อย 50 ไร่ขึ้นไป ที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ และ B2B ที่เป็นกลุ่มพ่อค้าคนกลางที่สนใจรับโมเดลนี้ไปทำเป็นแฟรนไชส์และคิดค่าบริการเองผ่านการซื้ออุปกรณ์และซอฟต์แวร์ของเอไอพีฯ ในส่วนของซอฟต์แวร์ได้ใช้โอเพ่นแพลตฟอร์มที่ใช้ได้ฟรี แต่ในอนาคต“เอไอพี สกายเทค”จะพัฒนาซอฟต์แวร์เองเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจะพัฒนาต่อยอดขยายสู่พืชชนิดอื่นๆ ที่ไม่จำกัดเพียงพืชใบเท่านั้น หรือแม้กระทั่งการนำเทคโนโลยีอื่นๆมาเสริม อาทิ การวัดความชื้นและอุณหภูมิในดิน การหว่านเมล็ดโดยใช้อากาศยานฯ
“การใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนด้านการเกษตร จะช่วยลดต้นทุนทั้งกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิต และสร้างมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพ ส่งผลให้สามารถยกระดับภาคกรเกษตรไทยสู่เกษตร 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์” วัชรพล กล่าว