'อัพสกิล-รีสกิล' กลไกเสริมทัพองค์กรสู้วิกฤติ
'อัพสกิล-รีสกิล' กลไกเสริมทัพองค์กรสู้วิกฤติ บทสรุปจากเวทีเสวนาด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เมื่อขีดความรู้ความสามารถของพนักงาน เป็นฟันเฟืองหลักและเส้นทางการชี้วัดชะตาความอยู่รอดขององค์กร
ขีดความรู้ความสามารถของพนักงาน เป็นฟันเฟืองหลักและเส้นทางการชี้วัดชะตาความอยู่รอดขององค์กร "อัพสกิล-รีสกิล" จึงเปรียบเสมือนคัมภีร์เด็ดที่ผู้นำองค์กรไม่อาจมองข้าม หากต้องการก้าวผ่านสถานการณ์เดิม ๆ เพิ่มศักยภาพให้องค์กรสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่ในโลกธุรกิจยุคใหม่
องค์กรธุรกิจทั่วโลกมุ่งมั่นให้พนักงานรวมกว่า 17.2 ล้านคน ต้องผ่านการฝึกอบรมในรูปแบบอัพสกิล-รีสกิล ซึ่งเกินเป้าหมายที่ครอบคลุม 10 ล้านคนในปี 2563 ตามที่กำหนดไว้ในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum 2561
ส.อ.ท.จัดคอร์สอบรมสมาชิกตลอดปี
เจนวิทย์ กรอบทอง เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทักษะความสามารถเบื้องต้นที่เป็นความต้องการของตลาดยุคใหม่ คือ
1.ทักษะด้านคอมพิวเตอร์รวมถึงการใช้โปรแกรมสนับสนุนการทำงานต่างๆ เช่น Powerpoint Excel ควบคู่กับทักษะการนำเสนอ หรือการนำมาใช้ในกระบวนการทำงาน
2.ทักษะภาษา มีส่วนสำคัญมาตั้งแต่ต้น แต่จะต้องเพิ่มทักษะในการสื่อสาร การรับรู้ได้ในหลายภาษาเป็นเรื่องที่ตลาดแรงงานพร้อมที่จะรับ
3.ทักษะความเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น ความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำเสนอต่อผู้บริหารได้ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ควรที่จะนำเสนอที่นับเป็นประโยชน์ต่อองค์กร หรือความรู้ทั่วไปที่สามารถแสดงต่อผู้อื่นได้ ฉะนั้น ถือได้ว่ามุมมองและแนวความคิดของผู้บริหารมีส่วนสำคัญมากในการอัพสกิล-รีสกิลพนักงานองค์กร
สภาอุตฯ มีหลักสูตรการฝึกอบรมภายในองค์กร (In-house Training) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาเป็นวิทยากร หรืออาจจะจัดบทเรียนออนไลน์ทุกบริษัทระดับกลาง ถึงใหญ่เพื่อพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรทุกระดับ
ส่วนหลักสูตรการฝึกอบรมภายนอกองค์กร (External Training) หมายถึง การส่งกลุ่มบุคลากรเป้าหมายไปอบรมภายนอกทั้งการอบรมระยะสั้นและระยะปานกลาง จะต้องคัดเลือกบุคลากรส่งไปอบรมกับองค์การภายนอก โดยพิจารณาจากผลการประเมิน Gap Analysis แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละสายงาน เช่น ระดับคนงาน สกิลระดับงานฝีมือจะต้องเทรนด์ในส่วนของการพัฒนาฝีมือแรงงานในเชิงอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการคัดแยกวัสดุที่สำหรับนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้มีทักษะเพียงพอ และจะมีการฝึกอบรมซ้ำแต่ละช่วงตามไตรมาสนั้นๆ ทุกองค์กรระดับกลางถึงใหญ่จะมีแผนงานตรงส่วนนี้ แต่ในส่วนของระดับเล็กหรือเอสเอ็มอีอาจจะยังมีจำนวนไม่มากพอ
เนื่องจากมีระบบรองรับ ไม่ว่าจะเป็น ISO 9000, 45001 จะเป็นตัวช่วยให้พนักงานได้ฝึกอบรมตามทักษะแต่ละระดับ ขณะที่ สภาอุตฯ มีหน่วยงานจัดคอร์สฝึกอบรมสำหรับสมาชิกตลอดทั้งปี เช่น ความรู้ด้านพลังงานฝึกอบรมทั้งระดับผู้บบริหารและระดับปฏิบัติการ ถือได้ว่าการ อัพสกิล-รีสกิล นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งภายในองค์กร
ในอนาคตเทรนด์เทคโนโลยีจะเปลี่ยนเป็นการใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานคน ผู้ที่ไม่มีทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็จะต้องตื่นตัว เนื่องจากระดับบุคลากรที่ผ่านวัยช่วงกลางคนขึ้นไปจะสู้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ จึงต้องได้รับการรีสกิลให้มีทักษะความรู้เพียงพอสำหรับการทำงานกับระบบอัตโนมัติมากขึ้น
"ชัดเจนแล้วว่า หุ่นยนต์จะมาแทนที่แรงงานคน โดยเฉพาะในงานอุตสาหกรรมที่เสี่ยงอันตราย คนจึงต้องหันเหไปฝึกทักษะด้านอื่นแทน เช่น การควบคุมโรโบติก การซ่อมบำรุง ความชำนาญด้านไอที เพราะในอนาคตระบบกระดาษจะน้อยลงและไปอยู่ในไฟล์ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้กระทั่งการสำรองข้อมูลในระบบคลาวด์ บิ๊กดาต้ามากยิ่งขึ้น"
เสริมทักษะรับมือโลกดิสรัป
บรรพต หอบรรลือกิจ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า การช่วยให้พนักงานพัฒนาและยกระดับทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจึงนับเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน แต่หลายองค์กรยังไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงความหมายของคำว่าอัพสกิลและรีสกิล ทำให้เกิดความสับสน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและประสิทธิผลของผลงานที่ไม่เต็มที่ จากการที่ได้ศึกษาวิจัยพบว่าความเข้าใจของการจัดการเทคโนโลยีขององค์กรในประเทศไทยยังไม่เข้าใจลึกเท่าที่ควร เรื่องดิสรัปมันมีหลายมิติซึ่งจริงๆแล้วสิ่งที่มันกระทบ คือเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่กระบวนการบริหารจัดการไม่สามารถแยกมิติบริหารจัดการ ออกจากมิติทางเทคนิคได้ก็มีการจับอะไรปนๆ ไม่ชัดว่ามันเป็นปัญหาจากจุดไหน เราต้องเข้าใจมุมนั้นให้เคลียร์ว่ากระบวนการทำงานเป็นอย่างไร แล้วค่อยดำเนินการขั้นตอนต่อไปที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเซิร์ฟให้มันเกิดประสิทธิภาพเพิ่มในองค์กรมากขึ้น
"กำลังคนในตลาดตอนนี้มีเยอะมาก ตำแหน่งงานในประเทศไทยรองรับคนที่จบงานทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นบริษัทของไทยจึงควรมีกระบวนการบริหารจัดการทางเทคโนโลยีดึงความเชี่ยวชาญของบุคลากรในแต่ละเรื่องมาประกอบใช้ได้อย่างตรงจุด ซึ่งคนรุ่นเก่ากลุ่มนี้เขามีประสบการณ์ และความชำนาญในกระบวนการแบบอนาล็อกมีสกิลมีทักษะเฉพาะด้านมาเป็น 10 ปี บริบทของการเปลี่ยนสกิลเดิมยังใช้ได้แต่ต้องมีมิติทางเทคโนโลยีเรื่องใหม่ๆเข้ามาเสริมทัพเช่น เซ็นเซอร์การประมวลผลเพื่อควบรวมสมอง 2 มิติทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่มาผสมผสานกัน ผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็จะสัมฤทธิ์ผล"
ด้าน อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้น การปรับตัวทางธุรกิจถือเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งปรับตัวได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ข้อผิดพลาดภายในองค์กรก็จะลดลงตามไปด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การทำความเข้าใจองค์กรของตนเองก่อนว่าองค์กรอยู่ตรงจุดไหน มีความพร้อม หรือมีปัญหาหรือไม่ อะไรคือความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามา และจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไรเพื่อที่จะปรับองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อมีโมเดลการขับเคลื่อนองค์กรที่มั่นคงและมีแบบแผนที่ชัดเจนแล้วนั้นสิ่งต่อไปที่จะต้องคำนึงถึงคือ “กำลังคน”
"อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ การปฏิรูปทรัพยากรมนุษย์ หรือ คนในองค์กร เพราะการจะผลักดันให้องค์กรก้าวต่อไปข้างหน้าได้การเตรียมความพร้อมของคนเป็นเรื่องสำคัญ โดยกลยุทธ์หลักที่เสมือนเป็นทริคสำคัญในการปฏิรูปคน นั่นคือการ รีสกิล (Reskill) ซึ่งเป็นการเพิ่มทักษะการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับโลกดิสรัปชั่นได้ อาทิ การเพิ่มองค์ความรู้ในทักษะงานด้านอื่นๆภายในองค์กร และอีกหนึ่งประการคือ อัพสกิล (Upskill) เป็นการเสริมทักษะในงานเดิมที่ทำอยู่เพื่อให้เกิดผลในเรื่องของการต่อยอดออกไปอีก เช่น การเสริมทักษะของการเป็นหัวหน้างานในบริบทใหม่ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นต้น"
เชื่อมคน 2 โลกเป็นใบเดียวกัน
ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอิตัลไทย กล่าวว่า การอยู่ในโลกธุรกิจมาอย่างยาวนานช่องว่างระหว่างวัย หรือความเข้าใจที่แตกต่าง (generation gap) ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่กลายเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องประสบ นี่คือโจทย์สำคัญที่นำไปสู่เครื่องมือที่จะให้พวกเขาเหล่านั้น สามารถกลมกลืนในอีโคซิสเต็มขององค์กรได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมสร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น โดยส่วนตัวคิดว่า การรีสกิล และอัพสกิล คือคำตอบที่กำลังตามหา เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สกิลเดิม ๆ ที่เคยมี ไม่เพียงพออีกต่อไป จึงจำเป็นต้องรีบเพิ่ม และเสริมทักษะให้กับคนในองค์กร และในฐานะผู้บริหารก็จำเป็นต้องทำเช่นกันเพื่อเป็นแบบอย่างและกำหนดทิศทางธุรกิจไปด้วยกัน เพื่อเราจะสามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้
"เราจะเห็นได้ว่ามีโมเดลหลากหลายที่ถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจเพื่อเป็นสิ่งกระตุ้น 2 ปัจจัยสำคัญนี้ ซึ่งการรีสกิล และอัพสกิล จะทำให้คนทุกเจเนอเรชันสามารถอยู่ร่วมกัน หรือสามารถนำพาองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงได้ เราจึงต้องเร่งสร้างให้ทุกคนในองค์กรมีแพลตฟอร์มทั่วไปที่จะดำเนินไปในทางเดียวกันก่อน เมื่อองค์กรสามารถสร้างความรู้สึกในการอยากเปลี่ยนแปลงในตัวเองได้ระดับหนึ่งแล้วก็อาจเกิดการบอกต่อคนอื่น ๆ ให้เกิดความรู้สึกแบบเดียวกันได้ และหากทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะสามารถยกระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวไกลได้มากขึ้นเช่นกัน"
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเท่าไหร่ ทรัพยากรมนุษย์ย่อมสั่นคลอนมากขึ้นเท่านั้น กลายเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกของการทำงานปัจจุบัน เมื่อความเปลี่ยนแปลงมักนำมาซึ่งความหวาดหวั่น แต่ในทางกลับกัน ความเปลี่ยนแปลงนั้นยังเปิดโอกาสนำไปสู่แนวทางใหม่ ๆ เพื่อก้าวต่อไปด้วย