'กันกุล' เปิดฉากลุยโซลาร์รูฟ ส่ง 'เอไอ' ตีสนิทไฟบ้าน
“GRoof Smart Living by Gunkul” มิติใหม่ของตลาดพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป)ในระดับตลาดรีเทลด้วยกลไกขยายฐานลูกค้าที่เป็นภาคเอกชนและเข้าถึงรายย่อยอาทิ โรงแรม ครัวเรือน สำนักงาน ดึง “เอไอ” วิเคราะห์แจ้งเตือนเมื่อใช้ไฟเปลือง
ด้วยทฤษฎีที่ว่าโลกอยู่คู่กับแสงอาทิตย์มาอย่างยาวนาน ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งจะมีนักประดิษฐ์จับแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้สำเร็จ ก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมโซลาร์เซลล์และสร้างคุณูปการต่อระบบไฟฟ้าของโลกที่ประยุกต์ใช้กันแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ และนั่นเองถือเป็นการเปิดฉากของธุรกิจ “โซลาร์รูฟท็อป” ในตลาดโลก แน่นอนว่าเมื่อธุรกิจกลายเป็นกระแสไวรัลก็คงหนีไม่พ้นเทรนด์ฮิตติดตลาด ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นภาคเอกชนหลายรายกระโจนเข้าแย่งชิงสัดส่วนเค้กก้อนนี้กันอย่างเนืองแน่น และก็เช่นเดียวกันกับ “บมจ.กันกุล เอ็นจีเนียริ่ง” ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจร และระบบไฟฟ้า ที่แตกไลน์ธุรกิจนำมาซึ่งโครงการ "GRoof Smart Living by Gunkul" มิติใหม่ของตลาดพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในระดับตลาดรีเทล ด้วยกลไกขยายฐานลูกค้าที่เป็นภาคเอกชนและเข้าถึงรายย่อย อาทิ โรงแรม ครัวเรือน สำนักงาน มากยิ่งขึ้น และเมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลการผลิตไฟฟ้าผ่านแอพพลิเคชั่น GRoof ได้ด้วย
ปลดแอกพลังงานไฟฟ้าไทย
นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง คลื่นลูกใหม่ผู้ขับเคลื่อนกรูฟ กล่าวถึงจุดเริ่มของการเทิร์นอะราวด์ investment banker และเข้าสู่สังเวียนอุตสาหกรรมพลังงานในครั้งนี้ว่า จากที่ผ่านมาได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ให้กับบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ จึงนำประสบการณ์ความรู้กลับมาต่อยอดธุรกิจพลังงานของครอบครัว
กันกุลเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ B2G (Business to Government) และ B2B (Business to Business) โดยการซื้อขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าหลักก็คือรัฐบาลตามมาด้วยเอกชนขนาดใหญ่ และได้หันมาทำโซลาร์เซลล์เพื่อเข้าถึงตลาดรีเทลมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาฐานลูกค้าที่เป็นภาครัฐเพียงกลุ่มเดียว
“เมื่อเน้นลูกค้ารายย่อยจึงทำให้มีกิจกรรมมากขึ้น ก็จะคล้ายกับธุรกิจสื่อจากอดีตที่มีช่องทางการรับข่าวสารเพียงไม่กี่ช่องทาง อาทิ วิทยุ โทรทัศน์ แต่วันนี้สามารถรับข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับธุรกิจไฟฟ้าที่ผู้ใช้งาน นอกจากจะซื้อไฟจากภาครัฐได้แล้ว ยังมีทางเลือกที่จะผลิตใช้เอง ขายหรือเก็บกักไว้ใช้หรือขายเมื่อต้องการได้ด้วย”
ในอนาคต ภาพที่กำลังจะดำเนินไปในตลาดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยคือ นอกจากครัวเรือนผลิตไฟฟ้าใช้เองแล้ว เรายังสามารถควบคุมระบบและขายไฟให้เพื่อนบ้านได้ จากจุดนี้เองทำให้กันกุลพัฒนาต่อยอดระบบการจัดการเพื่อให้การใช้ไฟมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมี “เอไอ” คอยควบคุมกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้
เอไอจะเก็บข้อมูลการใช้ไฟของแต่ละบ้าน วิเคราะห์พฤติกรรมหรือกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละวัน อาทิ ปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์รูฟท็อป ชนิดของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด พร้อมกันนี้จะมีระบบแจ้งถึงช่วงเวลาที่สามารถใช้ไฟฟ้ามากหรือน้อย และแจ้งเตือนเมื่อมีการใช้ไฟเกินจากที่ระบบผลิต ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าแต่ละวันต้องใช้ไฟอย่างไรให้ประหยัด หากเหลือก็นำไปขาย หรือช่วงไหนควรจะเก็บไว้ใช้เมื่อการไฟฟ้าขายแพงก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดแชริ่งอีโคโนมีระหว่างผู้บริโภคกันเองได้อีกด้วย
นอกจากนี้ กันกุลยังได้พัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เทอร์โมสตัท” ทำหน้าที่วัดและปรับอุณหภูมิโดยจะวิเคราะห์ระดับอุณหภูมิที่ให้ความรู้สึกสบาย และปรับเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ ลดการสิ้นเปลืองจากการปรับเปลี่ยนโดยใช่เหตุ
ตอบโจทย์สมาร์ทโฮมโซลูชั่น
แม้ว่าปัจจุบันการใช้งานโซลาร์รูฟท็อปจะเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดที่หลากหลาย อาทิ เมื่อผลิตแล้วต้องใช้ทันที เพราะปัจจุบัน “แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน”ที่ใช้กักเก็บพลังงานมีราคาสูง มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ที่ประเทศจีนเท่านั้นและผู้ผลิตน้อยราย หากแบตเตอรี่ราคาถูกลงจะทำให้สามารถคอนโทรลการใช้ไฟได้มากขึ้น ก็จะสามารถต่อยอดสู่ไลน์การผลิตอื่นๆ ได้อีกมาก
ด้านการแข่งขัน นฤชล มองว่า เมื่อตลาดมีคู่แข่งจะเกิดการในการเปรียบเทียบ ลูกค้าจะกล้าตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์ด้านนี้เพิ่มขึ้น ตลาดก็จะมีสีสันซึ่งการแข่งขันจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแอคทีพและโซลูชั่นด้านนี้จะกลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภค ประกอบกับ Bloomberg คาดการณ์ไว้ว่าอีก 30 ปีข้างหน้า แหล่งกำเนิดของไฟฟ้าทั้งโลกจะมาจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์คิดเป็นสัดส่วน 50% จากปัจจุบันมีเพียง 10% เท่านั้น จึงนับเป็นความท้าทายเช่นกันเพราะทุกวันนี้มีผู้เล่นในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้น
“ปีที่ผ่านมานับเป็นระยะเริ่มต้น เราสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับระดับครัวเรือนได้กว่า 200 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ในปีนี้กันกุลมีแผนจะกระจายให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพิ่มโปรดักท์และบริการรูปแบบใหม่ๆ บนทิศทางของ “สมาร์ทโฮมโซลูชั่น” คาดว่าจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 150 ล้านบาทภายในปีนี้ ขณะที่ตั้งเป้ายอดขายไฟฟ้าโดยรวมของกันกุลในปี 2565 ที่ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกว่า 630 เมกะวัตต์”
กกพ.สร้างความมั่นคงพลังงาน
เมื่อการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน กำลังพลิกโฉมหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งติดตามและศึกษาเทคโนโลยีด้านกิจการไฟฟ้าที่กำลังมาแรง เพื่อวางกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้ทันยุคสมัย โดยใช้แซนด์บอกซ์ทดลองโซลาร์รูฟท็อป และเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาใช้พื้นที่ของ กกพ. คาดว่าเฟส 2 จะลอนซ์ภายในปี 2563 จากเฟสแรกที่ดำเนินการไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
“การที่กันกุลได้เข้าไปร่วมโครงการดังกล่าว จะทำให้ประชาชนที่ใช้โซลาร์รูฟท็อปสามารถขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งได้ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว โลกก็จะไปในทิศทางของตลาดเสรี หรือที่ว่าทุกคนเป็นผู้ผลิตไฟได้หมด ซึ่งในอนาคตประเทศไทยก็ต้องก้าวไปสู่ภาพนั้น ขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะมีมาตรการสนับสนุนออกมาเมื่อไรเท่านั้นเอง”
นฤชล กล่าวต่อไปว่า การที่จะขายไฟให้แก่กันได้นั้นจะต้องผ่านสายส่งของภาครัฐ แต่หากแบตเตอรี่มีราคาถูกลงผู้ประกอบการมีต้นทุนต่ำลง และสามารถผลิตไฟในหน่วยที่ถูกกว่าการไฟฟ้าของภาครัฐผลิต ผู้บริโภคอาจจะเบนเข็มไปพึ่งพิงการค้าเสรีก็เป็นได้ ดังนั้น รัฐจึงต้องเอื้อต่อตลาดนี้ด้วยเช่นกันเพื่อให้เกิดความสมดุลแก่ทุกฝ่าย และคาดว่าเราจะเห็นภาพของตลาดเสรีในการซื้อขายไฟฟ้าได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้โครงการโซลาร์ภาคประชาชน กระทรวงพลังงานได้เล็งปรับหลักเกณฑ์เพื่อเชิญชวนประชาชนให้หันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกันมากขึ้น จากปัจจุบันที่กำหนดราคารับซื้ออยู่ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย อาจปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจภาคครัวเรือนให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น