ม.รังสิตส่ง 'แอนิเมชั่น3มิติ' สร้างทักษะใหม่นักศึกษา
"มหาวิทยาลัยรังสิต" เดินหน้าเปิดประตูสู่โลกจินตนาการ สร้างสรรค์งานเสมือนจริงนำร่องดึง 'แอนิเมชั่น 3 มิติ' พลิกโฉมสื่อการเรียนการสอนนักศึกษา เพื่อให้เข้าใจหลักการทำงานเบื้องต้นของวิทยาการความจริงเสมือน รวมถึงประสบการณ์งานปั้นในวงการภาพยนตร์
ปัจจุบันฝีมือการสร้างสรรค์งาน “แอนิเมชั่น” ของคนไทยพัฒนาไปไกลมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก และยิ่งมีคนเริ่มให้ความสนใจงานแอนิเมชั่นมากขึ้นทำให้ธุรกิจแอนนิเมชั่นเริ่มขยับ และเติบโตขึ้น ประเทศไทยเองเริ่มมีการรับงานจากต่างประเทศ คุณภาพงานที่คนไทยจะสร้างงานแอนิเมชั่นเข้าไปในระดับมาตรฐานของฮอลลีวู้ด รวมถึงสตูดิโอไทยเองก็สามารถผลิตงานที่ตลาดโลกต้องการได้เช่นกัน
หนึ่งในเทรนด์ที่กำลังมาแน่นอน คงหนีไม่พ้นวิทยาการความจริงเสมือนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น VR Virtual Reality และ XR Extended Reality ที่หลายคนอาจเคยเห็น หรือ มีโอกาสได้ชมจากภาพยนตร์ อาทิ เรื่อง Ready Player One ที่ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีนี้เริ่มที่จะก้าวพัฒนาไปถึงจุดที่ใกล้เคียงกับที่เห็นในภาพยนตร์ และเทคโนโลยีนี้สามารถจำลองโลกเสมือนจริงทำให้ผู้ที่เข้าไปใช้งานดื่มด่ำโลกเสมือนได้
โกเมศ กาญจนพายัพ อาจารย์ประจำสาขาวิชาคอมพิวเตอร์อาร์ต คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำผลงานด้านแอนิเมชั่นไปจัดแสดง IEEE VR 2019 ประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกเรื่องของการปั้นและการทำแอนิเมชั่นด้วยวิทยาการความจริงเสมือน โดยใช้โปรแกรม Oculus Quill VR ในการสร้างผลงาน นำเสนอในรูปแบบของ Virtual Reality
นอกจากนี้ยังมีผลงานปั้นแนวประติมากรรม Fine Art ซึ่งทำออกมาเป็นประติมากรรมสำริด งานปั้นตัวละครและอาร์ตทอย ถือเป็นงานสะสมของคนรุ่นใหม่ โดยจะทำงานร่วมกับศิลปินท่านอื่น ออกมาเป็นชิ้นงานแนวเก็บสะสม งานศิลปะผ่านสื่อสมัยใหม่โดยเฉพาะ “วิทยาการความจริงเสมือน” โดยเน้นการสร้างงานนิวมีเดียอาร์ต ที่ผู้ชมสามารถเข้าไปอยู่ในงานศิลปะได้ เพิ่มระดับความสนุกและอิ่มเอมในการดูงานศิลปะ งานปั้นคอนเซ็ปต์สำหรับภาพยนตร์ และผลงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอนิเมชั่นสามมิติ
งาน IEEE VR 2019 จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติแห่งเมืองโอซาก้านั้น ภายในงานเป็นการรวมเทคโนโลยีวีอาร์เสมือนจริงจากนักพัฒนาและบุคลากรชั้นนำในอุตสาหกรรมจากทั่วโลก มีการโชว์ผลงานวิจัยต่างๆ และเวิร์คช็อปมากกว่า 18 รายการ ถือว่าเป็นงานที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
ในแต่ละหัวข้อจะเป็นการแนะนำวิธีการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงกับสิ่งที่อยู่รอบตัว ได้แก่ แอนิเมชั่น, เรื่องสุขภาพ, การกีฬา หรือแม้แต่เรื่องของจริยธรรม เป็นต้น เทคโนโลยีวีอาร์นั้นสามารถบูรณาการเข้ากันได้กับทุกอย่าง
สำหรับผลงานของอาจารย์โกเมศใน IEEE VR 2019 ได้นำเสนอในหัวข้อแอนิเมชั่นกับการเล่าเรื่องในรูปแบบของวีอาร์ ที่เหนือกว่าการเล่าเรื่องในรูปแบบทั่วไป ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน IEEE Xplore Digital Library ซึ่งเรียกว่าเป็นการแสดงผลงานในนามตัวแทนของคนไทย ในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น และ Virtual Reality ของประเทศไทย
นอกจากนี้เมื่อเดือน ก.ย.2562 อาจารย์โกเมศได้มีผลงานศิลปะจากวิทยาการ VR เข้าร่วมประกวดในเวทีศิลปะนานาชาติ Virtually Tilted สหรัฐอเมริกา และได้รับรางวัลที่ 1 Best of Show อีกด้วย โดยผลงานมีชื่อว่า Cube of Enlightenment หรือห้องแห่งการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า งานศิลปะประเภทนิวมีเดียอาร์ตที่ใช้วิทยาการความเป็นจริงเสมือน สร้างสรรค์งานในโปรแกรม Google Tiltbrush เป็นการสืบสานพุทธศาสนาในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงต่อสากลและนำเสนอให้อยู่ยุคสมัยเป็นการผสมผสานความเชื่อทางศาสนา รวมถึงวัฒนธรรมของคนไทยกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลอย่างลงตัว
จากประสบการณ์ด้านงานแอนิเมชั่นของอาจารย์โกเมศ ได้เริ่มนำร่องเทคโนโลยีวีอาร์ โดยการนำไปสอนในบางรายวิชาของคณะดิจิทัลอาร์ต เช่น วิชาเทคนิคทดลอง เริ่มให้นักศึกษาเรียนรู้และเข้าใจหลักการทำงานเบื้องต้นของวิทยาการความจริงเสมือน รวมถึงประสบการณ์งานปั้นในวงการภาพยนตร์
“ผมได้นำความรู้ทั้งในเชิงเทคนิคการปั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์ และแอนิเมชั่น อย่าง ZBrush และโปรแกรมอื่นๆ ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชั่นและภาพยนตร์ และยังได้สอนเสริมทักษะการทำงานในอุตสาหกรรมกลุ่มซอฟต์สกิลต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้รู้ถึงการทำงานจริงในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น การทำงานเป็นทีม ความอ่อนน้อมถ่อมตน การนำเสนองาน การกล้าแสดงออกและประสิทธิภาพในการสื่อสารแนวความคิดของตนเอง และนักศึกษาสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต"
สำหรับผู้ที่สนใจแอนิเมชั่น งาน VR Virtual Reality สามารถติดตามผลงานในรูปแบบเต็มและอัพเดทแวดวงอุตสาหกรรมแอนนิเมชั่นและ Virtual Realityu ได้ที่ www.facebook.com/gomesh1977 อินสตราแกรม gomesh1977