'เครื่องตัดอ้อยสด' ลดฝุ่น PM 2.5 สิ่งประดิษฐ์จาก สจล.

'เครื่องตัดอ้อยสด' ลดฝุ่น PM 2.5 สิ่งประดิษฐ์จาก สจล.

สจล.โชว์สุดยอดนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เปิดตัว 'เครื่องตัดอ้อยสดชุมชนพร้อมสางใบ แบบพ่วงด้วยแทรคเตอร์' เพิ่มความสะดวกแก่เกษตรกรในการตัดอ้อยสด หมดปัญหาการเผาใบอ้อยลด PM2.5 พร้อมกระบวนการทำงานครบวงจรเสร็จงานตัดในขั้นตอนเดียว

ผศ.ณัฐวุฒิ เดไปวา  ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า การตัดอ้อยส่วนใหญ่มักจะใช้แรงงานคนมากถึง 60% และปัญหาที่พบ คือ แรงงานจะใช้วิธีการเผาอ้อยก่อนตัดเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งทำให้น้ำตาลในอ้อยลดลง ซึ่งบางพื้นที่ยังขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อยอีกด้วย อีกทั้งทางรัฐบาลได้ออกมาตรการในการเข้มงวด กวดขัน ตรวจสอบและเฝ้าระวังการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาลมีผลบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประสบปัญหาในกระบวนการจัดการผลผลิต

158092319352
ดังนั้นทาง สจล.จึงเล็งเห็นความสำคัญและได้มีแนวคิดในการพัฒนาโครงการเครื่องตัดอ้อยสดแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์แบบไม่ต้องเผา จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับงานไร่อ้อยโดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บเกี่ยวอ้อยสด เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและประหยัดเวลา ซึ่งตอบโจทย์การทำไร่อ้อยในปัจจุบัน

โดยผศ.ณัฐวุฒิ เดไปวา หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวต่อไปว่า นวัตกรรมเครื่องตัดอ้อยสดชุมชนแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยลดต้นตอส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 ด้วยฝีมือวิศวกรเครื่องกลไทย ซึ่งนวัตกรรมเครื่องตัดอ้อยสดชุมชนแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ ฝีมือวิศวกรเครื่องกลไทยและทีมงาน ออกแบบมาเฉพาะแบบไม่ต้องเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวอีกต่อไป สามารถทำงานได้ 4 ขั้นตอนในเครื่องเดียวคือ สางใบ ตัดโคน ตัดยอด วางรวมกอง ตัดได้ 100 ตันต่อวัน หรือประมาณ 10 ไร่ต่อวัน โดยใช้คนขับรถแทรกเตอร์เพียงคนเดียว ประหยัดเวลา แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐในการลดการเผาอ้อย ตอบโจทย์โรงงานน้ำตาล และเกษตรกรไร่อ้อยอย่างแท้จริง ทั้งยังส่งผลให้ชาวไร่อ้อยมีทักษะเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งได้อ้อยสด ส่งตรงสู่โรงงานน้ำตาลในราคาที่สูงขึ้นอีกด้วย

158092316013

ที่สำคัญผู้ประดิษฐ์ ในฐานะหนึ่งในกรรมการสมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย (TSME) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล พระจอมเกล้าลาดกระบัง ยืนยันว่าหากมีการปรับเปลี่ยนนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและสามารถช่วยลดการก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศมาใช้งานมากยิ่งขึ้น คาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะสามารถลดการเกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อย่างแน่นอน 

158092317726
ผู้ที่สนใจสามารถชมเครื่องจริงได้ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2563 ที่ไบเทคบางนา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2563 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช. )