วช.เชิดชู 'นักวิจัยยาชีวภาพ' จากมหิดล
นักวิจัยม.มหิดลคว้ารางวัล 'นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ 63' จากผลงานการคิดค้นยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาโรคไข้เลือดออก จดสิทธิบัตร 2 ฉบับคุ้มครองใน 11 ประเทศ เผยส่งต่อโนว์ฮาวให้เอกชนสหรัฐผลิตระดับอุตสาหกรรม คาดปีหน้าทำการทดลองในคนลุ้นออกสู่ตลาด 2569
โครงการฯ ได้มีการสร้างห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยแอนติบอดีขึ้นที่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ดำเนินการวิจัยโดยนำเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยไข้เลือดออกของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มารวมกับเซลล์ Myeloma ชนิดใหม่ แล้วนำมาคัดเลือกหาแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ จากนั้นนำมาทดลองในเชื้อไวรัสที่ก่อโรคจริงในคน พบว่าสามารถยับยั้งได้ทั้งหมด ต่อมาได้ทดสอบในหนูและลิงที่ถูกฉีดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก 10 ล้านตัว พบว่าแอนติบอดีสามารถกำจัดไวรัสจนหมด ภายใน 2 วัน
ต่อมาเมื่อปี 2561 บริษัท BSV Bioscience สหรัฐที่ได้ทำการรวบรวมแอนติบอดีจากนักวิจัยทั่วโลก มาทดสอบในหนูดัดแปลงพันธุกรรม ที่ถูกฉีดไวรัสทิ้งไว้ 1 วัน พบว่าแอนติบอดีจากนักวิจัยไทยให้ผลดีที่สุด โดยสามารถรักษาหนูให้รอดชีวิตได้ 100% ประธานบริษัทจึงมาทำสัญญาลงทุนสู่เชิงพาณิชย์กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ทำการผลิตระดับอุตสาหกรรม GMP วางแผนที่จะทดลองกับคนปกติในปี 2564 และกับผู้ป่วยไข้เลือดออกในปีถัดไป ก่อนจะขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) และออกสู่ตลาดในปี 2569
“สัญญาที่ลงนามร่วมกับ บริษัท BSV Bioscience นั้นเป็นแบบให้สิทธิ (non exclusive) ในประเทศไทย ซึ่งเจ้าของผลงานสามารถนำมาต่อยอดผลิตและลงทุนทางการตลาดเองในประเทศไทยได้ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะสามารถใช้ยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาโรคไข้เลือดออกที่คิดขึ้นนี้ในราคาที่เข้าถึงได้” ศ.น.สพ.พงศ์ราม กล่าว
นอกจากนี้ 10 ปีที่ผ่านมาโครงการฯ ได้มีส่วนสร้างโอกาสทางการศึกษาและวิจัยให้กับนักศึกษาปริญญาโท-เอก ได้ต่อยอดผลงานทำวิทยานิพนธ์จนสำเร็จการศึกษาถึงเกือบ 20 คน จากผลงานวิจัยดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ส่งผลให้ ศ.น.สพ.พงศ์ราม และคณะได้รับรางวัลผลงานวิจัย และผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จาก วช. ถึง 3 ครั้ง คือ ปี 2553 ปี 2557 และ 2559 กระทั่งได้รับรางวัลใหญ่ล่าสุด “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” ในปี 2563 นอกจากนี้ผลงานวิจัยยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ มาแล้วกว่า 70 เรื่อง รวมทั้งจดสิทธิบัตร 2 ฉบับคุ้มครองใน 11 ประเทศ