‘ไอโอพี’ ชี้วัดเอสเอ็มอี ติดสปีดนวัตกรรม
“มิราเคิล เฮ็ลธ์แคร์” เอสเอ็มอีรุ่นนำร่องใช้โปรแกรม “ไอโอพี” ประเมินศักยภาพนวัตกรรมองค์กรมาพร้อมกลไกสนับสนุนให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญและนวัตกรรม เผยใช้เวลาเพียง 6 เดือน สามารถประหยัดเวลาและแรงงานในกระบวนการผลิตได้ชัดเจน คาดปีนี้โตได้ถึง 70%
ไอพีโอ (Innovative Organization Program) โปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ทราบสถานะระดับความสามารถทางนวัตกรรมของตนเอง เพื่อที่จะกำหนดแผนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำไปสู่การยกระดับส่วนงานต่างๆ ในธุรกิจได้มากขึ้น จัดทำโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ร่วมกับสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ประเมินปิดจุดอ่อนด้วยนวัตกรรม
อัครนงค์ รุจิวัฒน์ กรรมการบริหารบริษัท มิราเคิล เฮ็ลธ์แคร์ จำกัด ก่อตั้งมากว่า 14 ปี เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ 5 ปี ให้บริการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ซึ่ง 90% เป็นสกินแคร์ ว่าจ้างโดยแพทย์ผิวหนัง กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากไอโอพีคือ ความคุ้มค่าจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้สามารถนำนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน ทำให้ประหยัดเวลาและแรงงานได้มาก เวลาที่มีเหลือนั้นก็นำไปพัฒนาสูตรใหม่ ๆ หรือต่อยอดสู่ไลน์การผลิตอื่น ๆ ทำให้เตรียมพร้อมรับมือกับการจัดการและกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ปรีชา ส่งวัฒนา ประธานกรรมการเอสเอ็มไอ กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งที่เป็นสมาชิกและทั่วไป ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของนวัตกรรมและครีเอทีพน้อย จึงทำให้โอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้กับตัวสินค้าเป็นไปได้ยาก สถาบันฯ จึงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงเอ็นไอเอกับเอสเอ็มอี ให้สามารถปิดจุดอ่อนและเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร
“สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับเอ็นไอเอพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรม IOP ที่เอ็นไอเอมีระบบอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ใช้กับผู้ประกอบการทั่วไป โดยเฉพาะรายใหญ่ที่จะเข้าสู่ตลาดเอ็มเอไอ แต่ครั้งนี้ได้ร่วมมือกันพัฒนาโปรแกรมฯ สู่ระบบออนไลน์และปรับเนื้อหาให้ตรงกับเอสเอ็มอีมากขึ้น”
โมเดลการประเมินครอบคลุม 8 มิติคือ 1.มิติด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม เป็นการวางยุทธศาสตร์และแผนงานด้านนวัตกรรมในระยะยาวสำหรับองค์กร 2.มิติด้านการมุ่งเน้นธุรกิจ เป็นการวางเป้าหมายการเติบโตด้านนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจ 3.มิติด้านกระบวนการ เป็นการวางโครงสร้างกระบวนการด้านนวัตกรรมขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ 4.มิติด้านผลิตผล เป็นการวางแนวทางการติดตามและประเมินผลลัพธ์ด้านนวัตกรรมขององค์กร
5. มิติด้านบุคลากร เป็นการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน 6.มิติด้านองค์ความรู้ เป็นการบริหารจัดการองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการพัฒนานวัตกรรมทั้งจากภายในและภายนอก 7.มิติด้านวัฒนธรรม เป็นการสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการคิดและพัฒนาสิ่งใหม่ และ 8.มิติด้านทรัพยากร เป็นการออกแบบการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อกิจกรรมนวัตกรรม
เปิดออนไลน์วิเคราะห์องค์กร
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ กล่าวว่า เอ็นไอเอให้การสนับสนุนทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในการนำนวัตกรรมมาต่อยอดและพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ขาดการเข้าถึงนวัตกรรม และยังไม่สามารถนำองค์ความรู้ งานวิจัย รวมถึงกระบวนการที่แตกต่างมาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ จึงเป็นความท้าทายที่ภาครัฐและเอกชนต้องหันมาให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสให้การทำธุรกิจเหล่านี้มีการเติบโตและแข่งขันได้มากขึ้นในอนาคต
เอ็นไอเอได้จัดทำโปรแกรมไอโอพีมากว่า 3 ปี รวม 300 บริษัททั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ แบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1.การประเมินด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ เพื่อระบุจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร พร้อมสะท้อนมุมมองด้านนวัตกรรมขององค์กร ทำให้เข้าถึงคลังข้อมูลขององค์กรได้โดยง่าย 2.การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะระบุโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและรายงานข้อเสนอแนะการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม และ 3.การให้คำปรึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมองค์กร พร้อมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผู้ประเมิน (Innovation Assessor) 23 คน เพื่อให้คำแนะนำการพัฒนาด้านนวัตกรรมให้แก่เอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วม 20 กิจการ และมี 5 กิจการที่ได้นำผลการประเมินไปต่อยอดและพัฒนาองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม